จะสอนเด็กให้รู้เรื่อง “จุดแข็ง” ของตนเอย่างไร
เด็กทุกคนที่เกิดมามี “จุดแข็ง” อันหมายถึงความสามารถหรือคุณลักษณะโดดเด่นเฉพาะตน อีกทั้งมีสิ่งท้าทายที่ต้องเผชิญและฝ่าข้ามไปในการพัฒนาตนเองสู่ความสำเร็จและชีวิตที่ดีกว่า การช่วยให้ลูกๆ หรือเด็กที่ดูแลอยู่ให้รู้ว่าตนมี “ดี” อะไร ช่วยให้เด็กๆตระหนักถึงตัวตนของตนเอง (Self-Awareness) มีความเชื่อมั่นและตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง (Self-Esteem)
“จุดแข็ง” ของคนนั้นสามารถแสดงออกได้เป็นคุณภาพได้หลากหลายแบบ “จุดแข็ง” ในบางเรื่องเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชีวิตที่ต้องการประสบความสำเร็จ “จุดแข็ง” ในบางเรื่องเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆในการจัดการหรือดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตามการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กวัยรุ่นมีความสุขขึ้นเมื่อใช้เวลาจดจ่อกับ “จุดแข็ง” มากกว่าการใช้เวลากับการทำให้ “จุดอ่อน” ของตนนั้นน้อยลง ในขณะที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในสังคมส่วนใหญ่ใช้เวลาในการ จ้องจับ “ผิด” จุดอ่อนของเด็กๆด้วยการคิดว่า จะเป็นการช่วยเด็กให้ประสบความสำเร็จ ผู้ใหญ่มักจะรู้สึกว่า “เธอยังไม่ดีพอและจำเป็นที่จะต้องได้รับแก้ไข” และบังคับให้เด็กๆทำในเรื่องที่ยังเป็น “จุดอ่อน” ให้ดีขึ้น ทั้งที่ประสบการณ์ในชีวิตของผู้ใหญ่ทุกคนก็รู้ว่า การทำในสิ่งที่เราไม่ชอบนั้นไม่ได้ทำให้ชีวิตของเรามีความสุขขึ้น แต่คำถามคือ ทำไมเราจึงเคี่ยวเข็ญเด็กๆที่เรารักให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ
ปัจจุบันนี้เด็กส่วนมาก โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวชนชั้นกลางถูกคาดหวังอย่างมากที่จะต้องประสบความสำเร็จ ต้องมีความสามารถในทุกๆเรื่อง การมีจุดอ่อนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งกดดันให้รู้สึกว่า “คุณค่า” ในตัวเองลดลง ในระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออกเพื่อเหลือคนชนะที่ได้รับรางวัลไม่กี่คน ทำให้คนที่ไม่สมบูรณ์แบบเพียบพร้อม (ซึ่งเป็นธรรมชาติของคนจำนวนมาก) ต้องประสบกับผลลัพธ์ที่นำไปสู่ความรู้สึกตนเองเป็นคนไร้ค่า วิตกกังวล ซึมเศร้า สิ้นหวัง ไปจนถึงการคิดฆ่าตัวตาย
ในปัจจุบัน งานวิจัยส่วนใหญ่ได้สะท้อนให้เห็นว่า การใช้จิตวิทยาเชิงบวกนั้นช่วยส่งเสริมให้เยาวชนคนหนุ่มสาวมีความสุขและเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีมากกว่า และประสบความสำเร็จมากกว่า การค้นพบจุดแข็งของตนเอง คือการค้นพบคุณสมบัติและความสามารถที่ดีที่สุดของตน ทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในตนเอง มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่นมากขึ้น การตระหนักถึง “จุดแข็ง” ของตนเองส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาในแบบของตนเอง ลดความกดดัน ทำให้มีเป้าหมาย สามารถสร้างความหมายและจุดมุ่งหมายในชีวิตของตน พัฒนาการทำงานได้ดีขึ้น นำไปสู่การสร้างชีวิตที่ดีที่สุดของตนเองได้ ส่งผลต่อไปถึงการพัฒนาภาพลักษณ์ของตนในสังคม ซึ่งมีผลปรากฏในงานวิจัยว่า คนที่ตระหนักและใช้“จุดแข็ง”ของตนในการดำเนินชีวิตและทำงานส่วนมากมีไปสู่รายได้ที่สูงขึ้นในทุกอาชีพอีกด้วย
มี 4 วิธีง่ายๆที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมและสอนให้ลูกหลาน (รวมถึงลูกศิษย์) รู้ถึง “จุดแข็ง”ของตนได้ ด้วยการทำสิ่งต่อไปนี้คือ
1. เริ่มจากการพัฒนามุมมองและทัศนคติของตน มองโลกจากความเป็นจริงที่ว่า คนทุกคนมี “เอกลักษณ์” เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ลองสังเกต และชวนลูกๆพูดคุยกันในครอบครัวถึง “เอกลักษณ์” ของเราแต่ละคนที่แตกต่างกันทั้งบุคลิก ลักษณะ ความชอบ ความสามารถ และความต้องการ โดยยอมรับความแตกต่างที่มีอยู่อย่างไม่ตัดสิน
2. ยกเลิกการเปรียบเทียบความสามารถ ความสวยงาม ความดีงามของลูกๆ ไม่เอามาตรฐานหรือความต้องการของพ่อแม่เป็นที่ตั้ง ว่าลูกจะต้องได้แบบนี้ เป็นอย่างนั้น ตามที่พ่อแม่ต้องการให้เป็น โดยไม่ได้มองเห็นความเป็น “คน” ที่มีลักษณะเฉพาะตนของลูก
3. เพิ่มคลังคำเชิงบวกที่เกี่ยวข้องกับ “จุดแข็ง” ให้สมองมีเส้นทางที่แข็งแรง ช่ำชองในการค้นพบ พัฒนา “จุดแข็ง”ของตน มองเห็น “จุดแข็ง” ของคนอื่น สิ่งรอบตัว และสถานการณ์รวมทั้งบริบท ซึ่งเป็นการฝึกให้สมองมองเห็น “โอกาส” จนกลายเป็นนิสัย ทำให้เห็นช่องทางสู่ความสำเร็จ แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก สมองที่ถูกฝึกให้เห็นความสามารถของตน เห็น “โอกาส” ของความเป็นไปได้ต่างๆ จะคล่องแคล่วในการนำ “จุดแข็ง” ของตนที่มีอยู่มีจัดการกับความยากลำบาก ด้วยความเชื่อมั่นใจตนเองมากกว่า มีแรงบันดาลใจมากกว่า สงบกว่า เป็นสุขมากกว่าคนที่เห็นแต่ข้อบกพร่องของตนเองตลอดเวลา
เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและครู ช่วยเด็กๆ ในการค้นหา “จุดแข็ง”ของตนได้ คือ การตั้งคำถามในการค้นหาให้ตนเองตอบ เช่น
- อะไรที่ทำให้เด็กคนนี้ตื่นเต้น ประเด็นการถกเถียงเรื่องใดที่เด็กอยากเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น
- อะไรที่ดึงดูดความสนใจของเด็กคนนี้ได้นานที่สุด
- “เสียง” หรือ “คำพูด” ไหนที่เด็กแสดงความสนใจ ตอบโต้มากกว่าเสียงหรือคำพูดอื่นๆ
- เด็กแสดงออกถึงความใจกว้างอย่างไรบ้าง
- เด็กแสดงออกถึงความเห็นใจผู้อื่น หรือ ดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น หรือ เป็นคนตลกหรือไม่ เป็นต้น
4. ชี้จุด “จุดแข็ง” ของเด็กๆ ออกมาให้เห็น พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูฝึกฝนตนเองให้คอยเป็นเรดาห์จับตาเฝ้าสังเกตเห็นสิ่งที่เด็กทำได้ดี ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า เราสามารถฝึกสมองของเราให้มุ่งเป้าไปที่เรื่องดีๆที่เป็น “จุดแข็ง” ของเด็กๆ ได้โดยเริ่มคิดด้วยประโยคคำพูดที่ว่า “ฉันสังเกตเห็นว่า…” แล้วระบุคุณลักษณะหรือความสามารถที่เราเห็นในตัวเด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้ว่า จากจุดแข็งที่เขาแสดงออกนั้น เขาเป็นคนอย่างไร”
ตังอย่าง เช่น
“แม่สังเกตเห็นว่า หนูหยุดก้มลงเก็บหนังสือที่เพื่อนทำตก หนูเป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่น ดีมากเลยลูก”
“ครูสังเกตว่าเลขข้อนี้ยากมากเลย หนูทำอยู่ตั้งนาน แต่หนูก็พยายามทำสำเร็จ หนูทำให้ครูเห็นเลยนะ ว่าหนูเป็นคนมีมานะ ไม่ยอมแพ้ พยายามทำจนสำเร็จให้ได้”
การฝึกฝนตนเองของผู้ใหญ่ด้วยประโยคที่เริ่มต้นว่า “ฉันสังเกตเห็นว่า…….” นอกจากช่วยให้เด็กค้นพบ “จุดแข็ง” ของตนเองจากสิ่งที่คนอื่นสะท้อน สิ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นสมองของผู้ใหญ่คือ วงจรการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทเกี่ยวกับการสังเกต “จุดแข็ง” จะค่อยๆ แข็งแรงขึ้น เหมือนกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจากการฝึกซ้อมทุกวัน ทำให้ผู้ใหญ่เองสามารถเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันไม่ว่าดีหรือเลว ด้วยพลังชีวิตมากขึ้นเช่นกัน สมองที่ช่ำชองในการแสวงหา “จุดแข็ง” ทั้งของตนเองและผู้อื่นหาวิธีในการแก้ปัญหาและโอกาสต่างๆ ที่เข้ามาได้มากกว่า มีความสุขมากกว่า
นอกจากใช้ประโยค “ฉันสังเกต……” การบอกถึง “จุดแข็ง” หรือเรื่องที่เด็กๆทำได้ดีแล้วบอกผลที่เกิดขึ้น จะทำให้เด็กเห็นคุณค่าของ “จุดแข็ง”ที่ตนมีอยู่
ตัวอย่าง เช่น
“ป้าขำมาก หัวเราะไม่หยุดเลยตอนที่หนูเล่าเรื่องตลก ป้ามีความสุขจริงๆ”
“โน้ตสั้นๆที่หนูเขียนให้กำลังใจแม่ แล้วเอาไปวางไว้บนหมอน ทำให้แม่สดชื่น มีพลังไปทั้งวัน
“แม่ขอบใจจริงๆ ที่หนูเป็นคนที่ใส่ใจและแคร์ความรู้สึกคน”
เด็กที่ได้เรียนรู้ว่าบุคลิกภาพของตนได้รับการสังเกต “เห็น”และมี “คุณค่า” ในสายตาผู้ใหญ่ จะมีแรงบันดาลใจและความพยายามที่จะรักษาและพัฒนา “จุดแข็ง”ที่ตนเองมีอยู่ มั่นใจในตัวเองและเห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น มั่นใจในตนเองที่จะพยายามทำทุกเรื่องในชีวิตให้ดียิ่งขึ้น นั่นยังหมายถึง ความรู้สึกดี และมีความสุขในชีวิตที่เหลือทั้งหมด
5. ให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้และลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่างหลากหลาย สม่ำเสมอ เพื่อให้เด็กได้ค้นพบ “จุดแข็ง” และศักยภาพใหม่ๆ ที่ตนไม่เคยรับรู้มาก่อน ตั้งเป้าหมายร่วมกันให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมหรือเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในขณะที่เด็กๆ มีความก้าวหน้าในการเรียนรู้หรือทำสิ่งใด พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูต้องช่วยให้เด็กได้หันกลับไปทบทวนว่า ตนเองได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไร หน้าที่ตามธรรมชาติของสมองคือการกำกับ บริหาร ให้พฤติกรรมและร่างกายดำเนินไปสู่เป้าหมายของชีวิต การตั้งเป้าหมายทำให้สมองจดจ่อ มีทิศทางชัดเจนในการกำกับ บริหารชีวิตไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้ง การได้ทบทวน ถอดบทเรียน แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ ช่วยให้สมองของเด็กเรียนรู้ เห็นความก้าวหน้า พัฒนาการและความท้าทายที่ตนเองเผชิญ
การ “รู้ตัวรู้ตน” และ “รู้สถานการณ์” ช่วยให้เด็กเข้าใจตนเอง เข้าใจสภาพที่ตนกำลังเผชิญ ความมั่นใจที่เกิดขึ้นจะเป็นความมั่นใจในความสามารถและคุณลักษณะที่ตนเองมี บนฐานของความเป็นจริง และรู้ว่าตนเองมีข้อจำกัดหรือ “จุดอ่อน”ในเรื่องใด และได้ใช้ทักษะสมองส่วนหน้า EF อันเป็นทักษะชั้นสูงของสมองในการนำเอาประสบการณ์เดิม มาประเมินและตัดสินใจว่า ในสถานการณ์ใหม่นั้นตนจะทำอย่างไร
ครอบครัวเป็นระบบการจัดการและเป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญที่สุดของเด็ก และผู้ใหญ่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กเป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญที่สุด ในการส่งเสริมให้เด็กตัวน้อยแต่ละคนเติบโตไปประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิต การเลี้ยงดู ประคับประคองเด็กทุกคน ให้ตระหนักว่า ตนเองแข็งแกร่งในจุดใด เรียนรู้และพัฒนา “จุดแข็ง” ที่มีอยู่อย่างไร้ขีดจำกัด มุ่งตามความสนใจไปสู่เป้าหมายที่ตนต้องการ จะเป็นหลักประกันให้เด็ก มีพลังชีวิต ประสบความสำเร็จด้วยความสุข เจอความยากลำบากก็บากบั่นสู้ทน ด้วยความรู้สึกเห็นคุณค่าของตนเอง
Audrey Monke, 4 Ways to Focus on Our Kids’ Strengths, https://sunshine-parenting.com/4-ways-to-focus-on-our-kids-strengths/ สืบค้น 28 กพ. 2565
The Understood Team, 5 Steps for Recognizing Strengths in Kids, https://www.understood.0rg/articles/en/ สืบค้น 1 มี.ค. 2565
ปรารถนา หาญเมธี แปลและเรียบเรียง