ในการส่งเสริมการพัฒนาเด็ก สองประเด็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่ต้องพัฒนาให้ได้ก่อนที่จะไปเรื่องอื่น คือ การสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง หรือ Self-Esteem กับการพัฒนาทักษะสมอง EF- Executive Functions เพราะสองประเด็นนี้ต้องพัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่แรกเริ่มของชีวิต
ภายใน 3 ปีแรกของชีวิต เด็กทุกคนต้องมีผู้ดูแลที่ “มีอยู่จริง” คือใกล้ชิด ตอบสนองอย่างเอาใจใส่และอบอุ่น (ซึ่งอาจจะเป็นผู้ให้กำเนิดตามธรรมชาติหรือไม่ก็ได้) จนเด็กรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจและผูกพัน เกิดเป็นสายใยสัมพันธ์ทางจิตใจที่แน่นเหนียว ซึ่งนักจิตวิทยาชี้ว่าเมื่อสายสัมพันธ์นี้เข้มแข็ง มันจะผูกพันเชื่อมโยงจิตใจของเด็กกับผู้ดูแลคนนี้ไปตลอด ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคงในจิตใจ และด้วยความผูกพันนี้เอง ความรู้สึกเป็นตัวตน (Self) ของเด็กก็จะพัฒนาขึ้น
จากการรับรู้ในตัวตนของตัวเองหรือมี Self เด็กจึงจะสามารถพัฒนาไปสู่การเห็นคุณค่าในตนเอง หรือมี Self-Esteem ได้ในช่วงวัยประมาณ 3 ปี
หลายคนยังสับสนว่า ลักษณะแบบไหนที่เรียกว่า “มีความภาคภูมิใจหรือเห็นคุณค่าในตนเอง”
มีการชี้บ่งคุณลักษณะ (Characteristics) ที่แสดงถึงการมีคุณค่าในตนเองหลากหลาย ลองมาตรวจสอบตนเองกันดีกว่า ว่าเราเป็นคนที่มี Self-Esteem สูงหรือไม่
ฉันเป็นคนที่เปิดกว้างต่อการวิจารณ์ ไม่ถือเอาคำวิจารณ์การงานมาเป็นเรื่องส่วนตัวและไม่คิดว่า คุณค่าของเราขึ้นกับความเห็นของคนอื่น | ใช่ | ไม่ใช่ |
ยอมรับความผิดพลาดได้ ไม่กลัวเสียหน้าถ้าจะล้มเหลว มองชีวิตตัวเองในมุมตลกๆได้ ไม่อาย | ||
ไม่กลัวที่จะแชร์ประสบการณ์ ความคิดหรือโอกาสของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ | ||
เมื่อเจอความยากลำบากก็ไม่ท้อ รวมถึงไม่กลัวหรืออายที่จะเรียนรู้ หรือรับได้ว่าเราไม่รู้เรื่องนี้เรื่องนั้น | ||
กล้าขุดตัวเอง | ||
เชื่อว่าตัวเราก็เท่าเทียมกับคนอื่น ไม่ดีกว่าหรือเลวกว่าคนอื่น เห็นจุดแข็งของตัวเองและของคนอื่น ชื่นชมตัวเองและคนอื่นได้ | ||
กล้าคิดแตกต่าง แม้จะไม่เหมือนหรือเข้าพวกกับใคร | ||
พอใจกับชีวิต หาเรื่องเติมเต็มชีวิตให้มีความหมาย | ||
ขอตัดสินใจด้วยตนเอง ฟังคำแนะนำของคนอื่น แต่จะทำก็ต่อเมื่อคิดแล้วว่าเห็นด้วย ไม่ยอมให้ใครชักจูงง่ายๆ | ||
มีความสัมพันธ์ที่ดีและสบายๆ กับคนอื่น โดยเฉพาะกับคนใกล้ชิดจะเป็นแบบรักใคร่ห่วงใยและเคารพนับถือกัน | ||
ถ้ามีปัญหา จะโฟกัสเพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วง | ||
มีหลักคิดและคุณค่าที่ตัวเองยึดถือมั่นคง แล้วก็ปฏิบัติตัวไปตามนั้น | ||
เป็นคนมองโลกตามความเป็นจริง ยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็น ไม่พยายามไปเปลี่ยนใคร แต่ก็พยายามให้การสนับสนุนให้เขาไปในทิศทางที่ดี | ||
กล้าแสดงความคิดเห็นของตนเองให้คนอื่นรับรู้ ด้วยความสงบสุขุม แบ่งปันกับคนอื่นอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย สื่อสารแสดงออกตรงๆถึงความรู้สึก สิ่งที่ชอบ ไม่ชอบ | ||
มีความกลมกลืนระหว่างสิ่งที่พูด สิ่งที่ทำ และสิ่งที่คิด | ||
อยู่กับปัจจุบัน และมองไปข้างหน้ามากกว่าจะคอยหมกมุ่นอยู่กับอดีต | ||
ยอมรับความรู้สึกทั้งบวกและลบของตัวเอง และกล้านำเสนอกับคนใกล้ชิด | ||
สร้างสมดุลชีวิต ทั้งการงาน พักผ่อนบันเทิง ครอบครัว | ||
ยอมรับความเสี่ยงหรือความท้าทายถ้าจำเป็น เพื่อให้ได้จุดหมายที่ใหญ่กว่า | ||
มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยสร้างสิ่งที่ดีขึ้นในชีวิตของคนอื่น |
ถ้าคำตอบส่วนใหญ่เป็น “ใช่” นั่นคือสัญญาณของการมี Self-Esteem ที่ดีของคุณ
จะเห็นว่า การมี Self-Esteem ที่ดีไม่ได้หมายถึงการหยิ่งทะนง หรือมองตัวเองดีฝ่ายเดียว หากแต่สะท้อนถึงการมองทั้งตัวเองและคนอื่นในทางบวก บนความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนต่างก็มีดีมีเลวได้เหมือนๆกัน
การมี Self-Esteem ที่ดีจะมาคู่กันกับชุดความคิดที่เรียกว่า Growth Mindset คือมองมนุษย์ว่าทุกคนพัฒนาเติบโตและเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เพราะทุกคนเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ไม่ใช่คิดแบบ Fixed Mindset ที่คิดไปว่า คนเกิดมาอย่างไรก็จะเป็นแบบนั้นไม่เปลี่ยนแปลง
การมี Self-Esteem ที่ดีต้องบอกถึงการมีมุมมองและจิตใจที่เกิดกว้าง ทั้งต่อตนเองและคนอื่น ดังนั้นก็จะรับฟังความแตกต่าง คำวิจารณ์ ยอมรับความหลากหลาย และความผิดพลาดได้ ไม่กลัวเสียหน้า เพราะเชื่อว่าคนล้มแล้วลุกได้ แก้ไขได้
การมี Self-Esteem ที่ดีจะพัฒนาสัมพันธภาพที่ดี กับคนใกล้ชิดจะอบอุ่นและเคารพ กับคนอื่น จะสื่อสารสร้างสรรค์ อะลุ้มอล่วย ให้โอกาส แต่ตรงไปตรงมา ไม่ก้าวร้าว
คนมี Self-Esteem ที่ดีจะเป็นคนที่ยอมรับความจริง มีความสุขและพอใจในตนเองยอมรับสิ่งที่ตนเป็น สิ่งที่ตนมี พยายามจัดการชีวิตให้สมดุลลงตัว และมีความพยายามให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และยอมรับในความเป็นจริงของคนอื่นได้ แต่ก็ไม่ยอมจำนนหรือรับอะไรง่ายๆโดยไม่คิดไตร่ตรอง
การมี Self-Esteem ที่ดี มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ชีวิตและสถานการณ์ต่างๆ ที่เผชิญ ดียิ่งขึ้น ไม่ได้เป็นคนเรื่อยเฉื่อย อยู่ไปวันๆ พร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ พร้อมแก้ปัญหา เพื่อนำพาตนเองไปสู่ความสุขและความสำเร็จ รวมถึงมีใจที่จะช่วยเหลือผลักดันให้คนอื่นไปได้ดีด้วย โดยไม่ได้คิดไปกดดันจัดการคนอื่นเขา แต่สนับสนุนส่งเสริมเท่าที่ทำได้
การมี Self-Esteem จึงปรากฏออกมาเป็น พฤติกรรมที่เรียกว่าได้ว่าเป็น “ของจริงแท้”(Authentic) ไม่ต้องเสแสร้งทั้งกับตนเองและคนอื่นแต่อย่างใด
ตรงกันข้าม ถ้ามีลักษณะต่อไปนี้ แสดงว่า เราอาจจะมี Self-Esteem ต่ำแล้วล่ะ
- เกลียดตัวเอง เราทำอะไรไม่เคยดี ไม่เคยถูก ตัวเองไม่มีค่า เห็นแต่จุดอ่อนของตัวเอง น่าเศร้า
- คอยเอาใจคนอื่น เสียงคนอื่นมีอิทธิพลต่อเรามาก ปฏิเสธไม่เป็น
- โกรธง่าย ขี้หงุดหงิด กลัว วิตกกังวลไปทุกเรื่อง โลกนี้ไม่ปลอดภัย มองโลกเป็นลบหมด แล้วก็ซึมเศร้าบ่อยๆ
- มีแต่ความสงสัย ไม่เชื่อใจ ไม่เชื่ออะไรสักอย่าง สงสัยตัวเอง สงสัยความสำเร็จของตัวเอง
- ไม่กล้าเสี่ยง ไม่อยากลองอะไรใหม่ จะเริ่มอะไรก็ “คงทำไม่ได้” ปฏิเสธทุกอย่าง
- รักษาสัมพันธภาพไม่ค่อยได้ และรักษาขอบเขตของสัมพันธภาพก็ไม่ได้ด้วย
- ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าเสนอความคิด ไม่กล้าบอกว่าตนเองต้องการอะไร
- ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แล้วเราก็เป็นรองทุกที
ถ้าเช่นนั้น คงต้องปรับความคิด จิตใจครั้งใหญ่ เพราะการมี Self-Esteem ต่ำนั้นไม่เป็นผลดีต่อชีวิตแน่นอน
อ้างอิง;
- Nathaniel Branden, The Six Pillars of Self – Esteem, Bantam, 1995
- Courtney E. Ackerman, What is Self-Esteem? A Psychologist Explains, https://positivepsychology.com/, 2021