การฝึกฝน EF ในเด็กวัย 6-18 เดือน
ทักษะเชิงบริหารของสมองส่วนหน้า (Executive Functions: EF) เป็นทักษะสำคัญของชีวิตในการดำเนินภารกิจในแต่ละวันให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ การทำงานของทักษะนี้เปรียบได้ง่ายๆเหมือนกับศูนย์บังคับการบิน ที่คอยจัดการให้เครื่องบินแต่ละลำขึ้นและลงจอดได้อย่างเป็นระเบียบและปลอดภัยในสนามบิน ทักษะสมองส่วนนี้ทำหน้าที่ดึงเอาข้อมูลและประสบการณ์เดิมที่เรามีอยู่ในสมองออกมาใช้เมื่อถึงเวลาที่ต้องการเพื่อทำงานให้เสร็จสิ้น ทำให้สามารถจดจ่ออยู่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าและเป้าหมาย กรองเอาสิ่งเร้าที่ไม่จำเป็นและขัดขวางการทำงานออกไป และสามารถปรับเปลี่ยนความคิดและการกระทำเมื่อสถานการณ์ต่างไปเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้ง หรือแม้แต่ปรับเปลี่ยนเป้าหมายเมื่อจำเป็น สมองใช้ทักษะเชิงบริหารของสมองส่วนหน้า (EF) ในการกำหนดเป้าหมาย ริเริ่มดำเนินการและวางแผนตลอดจนวิธีการที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์และประเมินความคืบหน้าในการมุ่งสู่เป้าหมายอีกด้วย
กระบวนการพัฒนาทักษะสมองส่วนนี้ดำเนินไปอย่างช้าๆ ตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต ผ่านประสบการณ์ที่ได้รับ จนไปสมบูรณ์เต็มที่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (ประมาณอายุ 26 ปี) เด็กเล็กที่เกิดมาเริ่มพัฒนาทักษะจดจ่อ และสร้างความจำใช้งานผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับแม่หรือคนเลี้ยง การตอบสนองต่อประสบการณ์ที่ถูกกระตุ้นผ่านการเล่น และการถูกปฏิบัติหรือการดูแลจากคนเลี้ยงที่ใกล้ชิด การได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรัก การได้รับการตอบสนองความต้องการตามจังหวะเวลาของชีวิต คือยามกินได้กินอาหารที่มีประโยชน์และพอเพียง ยามนอนได้นอนอิ่มเป็นเวลา ยามขับถ่ายมีคนทำความสะอาดเปลี่ยนผ้าให้ ยามเจ็บปวดมีคนดูแลเอาใจใส่ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย จึงเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าในช่วงวัยต้นของชีวิต
ในแต่ละวันของเด็ก ไม่เพียงต้องการกินอิ่ม นอนหลับ มีสุขภาพแข็งแรงดี ผู้ใหญ่ยังสามารถใช้กิจกรรมต่างๆ ส่งเสริมทารกน้อยอายุตั้งแต่ 6-18 เดือนให้มีสมาธิจดจ่อ ใช้ความจำในการทำงาน และฝึกทักษะการควบคุมตนเองขั้นพื้นฐานได้ในโมงยามแห่งความสุขร่วมกัน ด้วยการเล่นกับเด็ก เวลาเล่นด้วยกันนั้น สิ่งที่ต้องการความเข้าใจจากผู้ใหญ่ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะ EF เป็นเบื้องต้นคือ การเล่นคือการเล่น ไม่เคร่งเครียด จริงจัง ผู้ใหญ่มีหน้าที่เสนอ แล้วคอยดูว่าเด็กตอบสนองอย่างไร เอาความสนใจของเด็กเป็นตัวตั้ง หากเด็กอยากเล่นต่อ ควรให้เด็กได้เล่น (ไม่ใช่เวลาอาหารหรือเวลาเข้านอน) หากเด็กมาสนใจไม่อยากเล่น ไม่ควรบังคับ หรือกระตุ้นไม่เลิกรา
การเล่นกับเด็กเล็กไม่ยาก แต่หากเด็กติดใจอยากเล่นไม่เลิก ผู้ใหญ่ต้องอดทนเล่นซ้ำๆ ไม่รีบบ่นเบื่อ เกมยอดฮิตสำหรับเด็กอายุ 6-18 เดือนที่เรารู้จักกันดีและเล่นแสนง่าย คือ การเล่น “จ๊ะเอ๋”
“จ๊ะเอ๋” ฝึกฝนความจำเพื่อใช้งาน เพราะจ๊ะเอ๋มีใครบางคนซ่อนอยู่ข้างหลัง แล้วเปิดเผยตัวให้เด็กเห็น และเด็กยังได้ฝึกฝนการควบคุมตนเอง รอให้ผู้ใหญ่เปิดหน้าตนเองออกมา เกมอีกเกมที่ฝึกฝนความจำเพื่อใช้งาน คือ เกมซ่อนของ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อนของไว้ใต้ผ้าแล้วให้เด็กหา ด้วยการเริ่มให้เด็กเห็นของก่อนแล้วเอาไปซ่อนไว้ใต้ผ้า เมื่อเด็กหาเจอ ก็เปลี่ยนเอาไปซ่อนไว้อีกที การที่เด็กต้องจำว่าตอนแรกของอยู่ที่ไหน แล้วย้ายไปอยู่ที่ไหน เป็นการฝึกฝนความจำเพื่อใช้งานได้เป็นอย่างดี
หากเด็กโตขึ้นมาหน่อย อาจจะพัฒนาการเล่นต่อไปอีก ด้วยการเอาของไปซ่อนเลยแล้วให้เด็กหา โดยไม่โชว์ให้เห็นก่อนเหมือนตอนที่ยังเล็กกว่านี้ เด็กได้ดึงเอาความจำเพื่อใช้งานออกมา เพื่อหาของ และเมื่อหาไม่ได้ ก็ได้ฝึกยั้งที่จะไม่ทำแบบเดิม แต่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ลองใหม่ว่าจะหาของตรงไหนให้เจอ เกมนี้เด็กจะสนุกตรงที่ในที่สุดแล้วหาของเจอ เท่ากับประสบความสำเร็จ ผู้ใหญ่ที่เล่นด้วยจึงต้องคอยสังเกต ไม่เอาของไปซ่อนในที่ที่หายากเกิน หรือหาง่ายเกินไปก็ไม่สนุก เกมซ่อนหายังพัฒนาต่อได้อีก เป็นเล่นซ่อนหา คราวนี้ไม่ซ่อนของ แต่ให้เด็กเป็นคนซ่อนเสียเอง ผู้ใหญ่เป็นคนหา ให้พูดเสียงดัง เพื่อให้เด็กได้จดจ่อตามฟังเสียงเรา ว่าเราอยู่ที่ไหน และควบคุมตนเองซ่อนตัวให้มิดชิด ไม่ให้เราเห็น เมื่อถูกหาเจอ เด็กได้ยังฝึกที่จะปรับความคิด ย้ายที่ซ่อนใหม่ เพื่อไม่ให้หาเจอในที่เดิมอีก การเล่นซ่อนหาเป็นอะไรที่สนุกมากสำหรับเด็กเล็ก
เล่นคำคล้องจอง หรือร้องเพลงง่ายๆ ที่มีจังหวะคำหรือเสียงชัดเจน แล้วตบมือหรือทำท่าง่ายๆ ประกอบ ก่อนจบแบบ ตื่นเต้น หรือ ทำท่าทางตลกๆ ให้ได้หัวเราะ เซลล์สมองส่วนหน้าที่กำลังเติบโต ได้พัฒนาทักษะพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการจำลำดับ เนื้อร้อง จังหวะ ท่าทางประกอบ อันเป็นทักษะการจำเพื่อใช้งาน ได้ฝึกทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง และยืดหยุ่นความคิด เพื่อควบคุมตนเอง ให้ทำตามจังหวะและเนื้อร้อง รวมทั้งยั้งตัวเองรอจนถึงตอนสุดท้ายที่ตื่นเต้นที่สุด
เล่น “เลียนแบบ” มนุษย์เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ เด็กๆ ชอบที่จะเลียนแบบ ตามอย่างที่ผู้ใหญ่ทำ เพื่อเข้าใจทุกสิ่งรอบตัว เมื่อเลียนแบบเด็กๆต้องใช้ความจำลำดับของกิริยาท่าทาง แล้วจึงค่อยพยายามทำตามให้เหมือน การเล่นเลียนแบบต้องใช้ทั้งทักษะ จดจ่อใส่ใจ ความจำเพื่อใช้งาน ยั้ง และยืดหยุ่นเพื่อควบคุมตนเอง เราอาจสอนเด็กให้เลียนแบบการเล่นของเล่น เช่น จับตุ๊กตาม้ามาทำท่าวิ่งแล้วทำเสียงกระหลุบ กระหลุบ ให้เด็กทำตาม ให้เลียนแบบการใช้คำ เล่นเสียง เลียนแบบท่าทาง ฯลฯ เป็นการเล่นอะไรที่ง่าย ทำให้เกิดเสียงหัวเราะ และสร้างช่วงเวลาแห่งความสุข ผูกสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย
เล่นบทบาทสมมติง่ายๆ พอเด็กเริ่มโตขึ้นจะสนใจและอยากทำได้เหมือนอย่างที่ผู้ใหญ่ทำ การเล่นเลียนแบบกิจวัตรประจำวัน และงานบ้านง่ายๆ จะเป็นอะไรที่สนุกมาก เช่น ให้เปิดก๊อกเพื่อกรอกน้ำลงขวด การได้ไม้กวาดอันเล็กแล้วหัดกวาดบ้าน พอโตไปกว่านี้เด็กอาจสนใจพับผ้า ค่อยๆ สอนเด็กให้เล่น “ทำงาน” ไปตามกิจกรรมการทำงานที่สนใจ ซึ่งโดยธรรมชาติเด็กจะมีความสนใจใคร่รู้ในงานที่ซับซ้อนขึ้นตามพัฒนาการ หน้าที่ของพ่อแม่ คือ สังเกต นำเสนอ หากเด็กชอบ ชวนเล่นให้ช่ำชอง แล้วท้าทายขึ้นทีละน้อย การเล่นซ้ำเดิมโดยไม่มีความท้าทายเลย เด็กจะเบื่อไม่สนใจ แต่หากท้าทายเกินไป เด็กจะแสดงออกเองว่าเหนื่อยไม่อยากไปต่อ การเล่นทุกครั้งเด็กควรได้รับความรู้สึกว่าตนทำสำเร็จ มั่นใจในตนเองมากขึ้น จึงอยากก้าวเดินต่อ แต่อย่าลืมว่านี่คือการเล่น อย่าเคร่งเครียด อย่าเพิ่งมอบหมายและคาดหวังว่าเมื่อลูกทำได้แล้ว ลูกต้องกวาดบ้าน หรือเปิดก๊อกกรอกน้ำทุกวัน เด็กวัยนี้แค่ต้องการเล่นเพื่อเรียนรู้ เก็บข้อมูล,ประสบการณ์ และฝึกทักษะให้เซลล์สมองเชื่อมต่อกันเป็นวงจรที่แข็งแรงขึ้นทีละน้อย
เล่นด้วยมือและนิ้ว การเล่นปรบมือเข้าจังหวะ การขยับนิ้วตามจังหวะเพลง การเล่นทำท่าด้วยนิ้ว เช่น กำปั้น ชูหนึ่งนิ้ว เอามือประกบกัน เอามือจับหัว จับไหล่ เป็นต้น เป็นการเล่นที่สนุก ง่าย ได้ฝึกกล้ามเนื้อมือเท่าที่ทำได้ อีกทั้งเป็นการฝึกทักษะความจำเพื่อใช้งาน ที่ต้องจำลำดับการเคลื่อนไหวไปตามจังหวะ การยั้งหรือหยุดทำมือแบบเดิมแล้วเปลี่ยนไปทำแบบใหม่อาศัยเซลล์ประสาทในสมองส่วนหน้าประสานกับเซลล์ประสาทส่วนดูแลการเคลื่อนไหวและส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง พัฒนาทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง และยืดหยุ่นความคิดตลอดเวลาให้แข็งแรงขึ้น
พูดคุยกับเด็กเล็กให้มาก เป็นการช่วยพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง การพูดคุยกับเด็กนั้นสร้างโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนทักษะจดจ่อใส่ใจระหว่างที่ฟังและพูดคุยตอบโต้กับเรา ได้ใช้ทักษะความจำเพื่อใช้งาน และการควบคุมตนเองที่ต้องอาศัยทักษะยั้งคิดไตร่ตรองและยืดหยุ่นความคิด ติดตามการพูดคุย ในเด็กที่ยังเล็กมาก ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กเรียกชื่อสิ่งของที่เด็กกำลังสนใจหรือมองอยู่ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ความหมายของคำว่าใช้เรียกสิ่งใด และเมื่อเด็กเริ่มพูด ชวนเด็กพูดหรือเรียกสิ่งที่เด็กสนใจ เมื่อเด็กโตขึ้นอีกนิด พูดเล่าหรืออธิบายสิ่งของ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าอย่างง่ายๆสั้นๆ เพื่อฝึกให้เด็กสนใจ จดจ่อฟัง วัยนี้เป็นวัยที่เซลล์สมองเชื่อมต่อกันอย่างรวดเร็ว การพูดคุยช่วยให้สมองของเด็กเชื่อมโยงสิ่งต่างๆที่เรียนรู้ในแต่ละวันเป็นแผนที่ในสมองได้รวดเร็ว ชัดเจนขึ้นมาก
การละเล่นง่ายๆที่สืบทอดกันมาในครอบครัวและชุมชนมีอยู่ในทุกวัฒนธรรม สามารถนำมาเล่นกับเด็กเล็กได้ไม่มีล้าสมัย หากคิดไม่ออก ลองเปิดหาจากออนไลน์แต่ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทิ้งเด็กให้เล่นกับมือถือหรือโทรทัศน์เพราะจะทำให้เด็กเป็นฝ่าย “ตั้งรับ” ไม่มีโอกาสตอบกลับ ผู้ใหญ่ควรร้องเองเล่นกับเด็กเอง ในการเล่นเราสามารถเร่งจังหวะเร็วขึ้นหรือช้าลงได้ตามสถานการณ์และทำได้สอดคล้องกับบริบทและการตอบสนองของลูก เด็กชอบให้ทำซ้ำเพื่อช่วยในการจดจำ และฝึกฝนตัวเองให้สามารถทำท่าทางหรือเล่นไปตามกติกาของเกมที่เอามาเล่น ในเด็กที่ยังเล็ก แนะนำว่า ควรนำเด็กมานั่งตักและเล่นด้วยกันก่อน
จะเห็นได้ว่าการฝึกฝนทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) เริ่มทำได้ไม่ยาก ทั้งยังเป็นการสร้างความรัก ความผูกพัน และเป็นโมงยามของความสุขร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูก ผู้ปกครองกับเด็ก และผู้ดูแลเด็กกับเด็กให้มีเสียงหัวเราะร่วมกันในแต่ละวันของชีวิต แต่สิ่งง่ายๆ ที่สร้างขึ้นนี้ จะประกอบกันขึ้นมาเป็นฐานรากที่สำคัญ ในต่อยอดให้พัฒนาการตามวัยของทักษะสมองส่วนหน้าได้แข็งแรง เพื่อก้าวขึ้นไปสู่พัฒนาการในขั้นต่อไปของการควบคุมอารมณ์ ความคิดและการกระทำ ทำสิ่งที่ยากขึ้นสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายในแต่ละขั้นของชีวิตต่อไปได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง
- Center on the developing child, Harvard University , Enhancing and Practicing Executive Function Skills with Children from Infancy to Adolescence, https://46y5eh11fhgw3ve3ytpwxt9r-wpengine.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2015/05/Enhancing-and-Practicing-Executive-Function-Skills-with-Children-from-Infancy-to-Adolescence-1.pdf,