วิธีพัฒนา “ความจำเพื่อใช้งาน” ให้เด็กของเรา

ความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) เป็นความสามารถในการจดจำข้อมูลทั้งในระยะสั้น และรวมถึงการเก็บข้อมูลไว้ในความทรงจำระยะยาว เป็นความสามารถที่เด็กจำเป็นต้องมี เนื่องจากในการเรียนรู้เด็กต้องใช้ความจำและความเข้าใจภาษาทั้งจากการได้ยินและได้เห็นตลอดเวลาในการเรียนและปฏิบัติตัวตามแนวทางที่วางไว้ ความจำเพื่อใช้งานช่วยให้เรานำประสบการณ์เดิมหรือข้อมูลที่มีอยู่แล้วมาให้กับสถานการณ์ที่เผชิญในปัจจุบัน รวมทั้งการทำงานที่รับผิดชอบหรือต้องการบรรลุเป้าหมายจนสำเร็จ ความจำเพื่อใช้งานเป็นความสามารถพื้นฐานของสมองส่วนหน้าที่ต้องมี เพื่อช่วยในการบริหารจัดการ จัดระเบียบทางความคิด การทำงานและการดำเนินชีวิต เป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจถึงสาเหตุและผลของเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น

          เด็กที่พบว่ามีปัญหาจำเรื่องที่บอกให้ทำไม่ได้ มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับความจำเพื่อใช้งาน หากเราพบว่าเด็กคนไหนมีความยากลำบากในการจดจำข้อมูลอย่างหนึ่งในขณะที่กำลังทำอีกอย่างหนึ่ง นั่นเป็นสิ่งบอกเหตุที่แสดงว่าเด็กกำลังประสบปัญหาเรื่องความจำเพื่อใช้งาน เช่น หากว่าแม่กำลังทำอาหารอยู่ด้วยกันกับเด็ก แล้วเด็กต้องออกไปช่วยพ่อหยิบของ เลย “ลืม” ที่จะกลับมาล้างผักให้แม่ หากเด็กมีอาการเป็นเช่นนี้บ่อยๆ พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยลูกในการพัฒนาทักษะ “ความจำเพื่อใช้งาน” ของทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) ซึ่งเป็นทักษะขั้นสูงในการบริหารจัดการของสมองมนุษย์ ซึ่งสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน หลายวิธีการและรูปแบบ เช่น

          ชวนลูกคิดเป็นภาพ – ฝึกและส่งเสริมให้ลูกนำสิ่งที่ได้อ่านหรือได้ยิน ไปวาดเป็นภาพในสมอง เช่น หากมอบหมายให้ลูกจัดโต๊ะอาหารสำหรับคน 5 คน ให้ลูกลองจินตนาการถึงโต๊ะอาหารที่จะใช้และต้องการให้เป็น หลังจากนั้นให้วาดภาพโต๊ะลงไปบนกระดาษ (ไม่ต้องสวย แค่พอสื่อสารให้เข้าใจ) เมื่อเด็กเห็นภาพในหัวได้ชัดเจนก็จะสามารถอธิบายสิ่งต่างๆได้ โดยไม่ต้องวาดออกมา

          ให้ลูกเป็นครูสอนเราในสิ่งที่ลูกรู้ – เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึกฝนการนำเอาความจำเพื่อใช้งานออกมา อธิบายสิ่งที่ตนเองได้ทำลงไป เช่น ให้ลูกเล่าวิธีเลี้ยงลูกบอลที่ลูกกำลังฝึกเล่นอยู่ ให้ลูกสอนเราว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ในห้องเรียนครูก็สามารถทำเรื่องคล้ายกันอย่างนี้ได้ ด้วยการให้เด็กจับคู่กัน ผลัดกันเล่าเรื่องที่ได้ทำเป็นลำดับหรือสอนให้เพื่อนรู้เรื่องที่ตนถนัด

          ชวนลูกเล่นเกมที่ต้องให้ความจำภาพ – นำเกมเกี่ยวกับภาพมาเล่นกับลูก อาจจะหาเกมทายภาพ เกมจับคู่ภาพมาเล่นกัน หรือแม้แต่นำภาพจากกระดาษหนังสือมาเล่นทายกัน เด็กที่โตขึ้นมาหน่อยรู้จักตัวเลขหรือตัวหนังสือแล้ว อาจเล่นขีดวงกลมรอบตัวอักษรหรือตัวเลข แล้วเล่นพูดทวนซ้ำหรือทวนจากหลังไปหน้า (เล่นให้สนุก มีเสียงหัวเราะ ไม่เอาจริงเอาจังจนเด็กกลัว)

          เล่นการ์ดเกม – เด็กที่โตขึ้นมาอยู่ในอายุราว 5 ขวบขึ้นไป เริ่มใช้การ์ดเกม เช่น เกม uno ในการพัฒนาได้ เกมส์เหล่านี้ช่วยฝึกเรื่อง Working Memory สองทาง ในเรื่องพื้นฐานเด็กจะได้ฝึกความจำเพื่อใช้งานในการเล่นเกมตามกติกาของเกม และยิ่งไปกว่านั้นเพื่อเล่นเกมให้ชนะ เด็กต้องฝึกจำว่าตัวเองได้การ์ดใบไหนและมีการ์ดใบไหนที่คนอื่นลงไปแล้วบ้าง การเล่นบ่อยๆได้ทำให้เด็กฝึกทั้งสมาธิ การสังเกตไพ่ และความจำเพื่อใช้งาน

          ฝึกการอ่านแบบ Active – ในเด็กที่เริ่มอ่านหนังสือเองได้ การอ่านออกเสียงช่วยพัฒนาทักษะความจำเพื่อใช้งาน  หากเป็นเด็กปฐมวัย พ่อแม่ครูอ่านให้ฟังแล้วชวนเด็กทวนเล่านิทานที่ฟัง อาจจะขอให้เด็กเล่าหลังจากที่อ่านจบเล่มไปแล้ว หรืออ่านไปหนึ่งหน้าผลัดให้เด็กเล่าหนึ่งหน้า อยู่ที่เด็กสนุกและชอบแบบไหน ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวที่อ่านให้เด็กได้ตอบ ประคับประคองให้เด็กได้ฝึก ไม่เร่งรัด ไม่ปล่อยปละ เมื่อเด็กขึ้นชั้นประถมอ่านหนังสือได้ ชวนเด็กขีดเส้นใต้ใจความที่เขาคิดว่าสำคัญ หรือเขียนโน้ตลงในหนังสือที่อ่าน ช่วยให้เด็กเก็บข้อมูลไว้ในสมองได้ชัดเจนและยาวนานพอ เพื่อใช้เอาไปตอบคำถามในการสอบได้

          สอนลูกให้แบ่งข้อมูล หรืองานออกเป็นส่วนเล็กๆ เพื่อจำได้ง่ายขึ้น – เมื่อมีข้อมูลที่มาเป็นกลุ่มก้อน ให้สอนลูกซอยย่อยแบ่งข้อมูลออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เช่น สอนเด็กให้จำเบอร์โทรศัพท์มือถือของพ่อแม่ที่ยาว 10 ตัวออกเป็น 3 กลุ่ม หากเด็กโตพอที่จะรู้ตัวเลข เขียนให้เด็กดูและ ขีดเครื่องหมาย “-“ แยกกลุ่มใช้เด็กเห็นชัดเจน นอกจากการแบ่งกลุ่มตัวเลข ฝึกให้ลูกแบ่งกลุ่มข้อมูลต่างๆ ที่ลูกเรียนรู้ บอกให้ลูกรู้เคล็ดลับและประโยชน์ที่จะได้จากการแบ่งข้อมูลออกเป็นส่วนเล็กๆ เพื่อจำได้ดีขึ้น รวมทั้งการแบ่งงานออกเป็นชิ้นเล็กๆ ช่วยเด็กที่มีปัญหาเรื่องความจำเพื่อใช้งาน ให้จดจ่อและทำงานไปทีละงานจนสำเร็จ เช่น พ่อแม่อาจจะบอกลูกว่า “เดี๋ยวเราจะกินข้าวเย็นกันแล้ว หนูเก็บของเล่นให้เรียบร้อย ทำเสร็จแล้วบอกแม่นะคะ แล้วแม่จะบอกหนูว่าเราจะทำอะไรต่อ” แทนที่จะบอกทีเดียวทั้งหมดว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่นบอกว่า “ เดี๋ยวเราจะกินข้าวเย็นกันแล้ว เก็บของเล่นให้เรียบร้อย ไปล้างมือ เสร็จแล้วไปเรียกพี่ให้มากินข้าวพร้อมกัน” เมื่อเด็กจำไม่ได้ก็จะหงุดหงิด รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง พ่อแม่เองก็จะหงุดหงิด และเผลอจ้ำจี้จ้ำไชกับลูกไม่หยุด

          สอนให้ลูกจัดลำดับงานที่ต้องทำเป็นประจำและเขียนลงไป – เมื่อลูกโตขึ้นในระดับประถมฯ ได้รับการบ้านและงานจากครูมากขึ้น พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกที่ยังมีความลำบากเรื่องความจำเพื่อใช้งานได้ ด้วยการชวนให้ลูกรู้จักบริหารงาน ด้วยการแบ่งงานออกเป็นเรื่องๆ เขียนลงในสมุดหรือโพสต์อิทว่าต้องทำอะไรบ้าง วางเป็นภาพให้จำได้ง่ายยิ่งเป็นการดี และให้ลูกจัดลำดับว่าต้องทำอะไรก่อนอะไรหลัง เขียนเรียงลำดับลงไปทีละเรื่อง ทำงานให้เสร็จไปทีละเรื่อง ทำเสร็จแล้วแล้วค่อยกลับไปดูสมุดว่า ต้องทำเรื่องอะไรต่อไปจนเป็นนิสัย นอกจากลดปัญหาและความกังวลของลูก การฝึกให้ลูกทำเช่นนี้เป็นประจำ จะพัฒนาโครงสร้างภาพงานในสมองของลูกให้มีความจำเรื่องกระบวนงานที่ต้องทำชัดเจนและแม่นยำขึ้น จำเรื่องที่สำคัญได้ดีขึ้น ผลที่ได้ตามมาอีกเรื่องคือ Self ของลูกที่งอกงามขึ้นทีละน้อยจากการทำงานเสร็จทีละชิ้นๆ

          ให้ลูกได้ใช้ประสาทสัมผัสหลากหลายในการพัฒนาทักษะความจำเพื่อใช้งาน – การใช้ประสาทสัมผัสหลากหลายช่วยให้ความจำเพื่อใช้งานและความจำระยะยาวดีขึ้น ทุกประสบการณ์ที่ประสาทสัมผัสได้รับในแต่ละครั้งสร้างการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาท ทำให้เกิดเป็นวงจรประสาท ยิ่งมีประสบการณ์มากวงจรประสาทยิ่งแข็งแรง ดังนั้นเด็กปฐมวัยควรได้ “เล่น” อย่างเต็มที่ การเล่นเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาทักษะความจำเพื่อใช้งานผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เมื่อเข้าสู่วัยประถมศึกษา การให้ลูกอ่านออกเสียง ชวนลูกเขียนหรือเขียนให้ลูกได้ดู เดินพูดคุยกันเรื่องที่ลูกกำลังเรียน การพยายามหาทางลงมือทำในเรื่องที่สามารถทำกันเองได้ ให้ลูกได้ใช้ประสาทสัมผัสอย่างหลากหลายในการเรียนรู้แต่ละเรื่องที่เด็กต้องเรียน ช่วยให้ความทรงจำหรือวงจรประสาทของเรื่องนั้นในสมองแข็งแรงพอที่จะเก็บข้อมลที่ได้รับไว้ในสมองได้นานพอที่จะหยิบขึ้นมาใช้ในยามต้องการ

          ให้ลูกได้เชื่อมเรื่องต่อราวสิ่งที่เรียนรู้ – เพื่อให้เด็กจำได้ดีขึ้น ช่วยและส่งเสริมให้ลูกเอาเรื่องใหม่ที่กำลังเรียนรู้ไปเชื่อมกับเรื่องที่เคยรู้มาก่อน การทำเช่นนี้ช่วยให้เด็กได้เปรียบเทียบข้อมูลที่มีอยู่เดิมกับข้อมูลใหม่ที่ได้รับ หรือเอาข้อมูลใหม่ไปเชื่อมและเติมสิ่งที่ตนรู้อยู่แล้ว ทำให้วงจรประสาทของสิ่งที่รู้อยู่แล้วแข็งแรงขึ้น และวงจรประสาทเกี่ยวกับความรู้ใหม่เชื่อมโยงกับฐานของความรู้เดิม ช่วยให้ทั้งเข้าใจและจำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การสร้างสรรค์คำที่จำง่ายๆ สวยงาม คล้องจอง ช่วยสมองดึงข้อมูลที่ซับซ้อน จำยาก เนื่องจากเป็นข้อมูลใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเดิมมาก ออกมาได้ง่ายขึ้น การสร้างคำใหม่ที่คุ้นเคยกับประสบการณ์เดิมก็ช่วยได้มาก อย่างเช่น ในระดับประถมครูสอนให้เด็กนักเรียนจำตัวอักษรกลางด้วยการให้ท่องว่า “ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง” แทนการท่องพยัญชนะ ๙ ตัว คือ ก จ ฎ ด ฏ ต บ ป อ เป็นต้น

           เด็กทุกคนมีจุดอ่อน จุดแข็งไม่เหมือนกัน หน้าที่ของพ่อแม่คือ ประคับประคอง เสริมจุดแข็ง พัฒนาจุดที่ลูก “ยัง” อ่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อพ่อแม่มีความรู้และความเข้าใจแล้ว กลวิธีสำคัญที่พ่อแม่และครูสามารถนำไปใช้ได้เลยนั้นทำได้ไม่ยาก สามารถทำได้ทุกวัน และทุกโอกาส หลักการใหญ่ๆคือ การช่วยให้เด็กได้คิดเป็นภาพ การทำกิจกรรมสนุกๆ (หรือจะพูดอีกทาง หมายถึงการเล่น) ที่ช่วยส่งเสริมความจำเพื่อใช้งานผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า การเล่นการ์ดเกมในเด็กวัยประถมศึกษา และการสนับสนุนให้เด็กเชื่อมโยงข้อมูลใหม่เข้ากับข้อมูลเดิมที่มีอยู่ในสมอง

          ทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) เปรียบเสมือนผู้บัญชาการของสมองทั้งหมดในการบริหารชีวิต เป็นกระบวนการคิดชั้นสูงของสมองที่กำกับอารมณ์ ความคิด การกระทำ ไปบรรลุเป้าหมาย คือความสุข ความสำเร็จ และสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ ด้วยการเป็นคน คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น มีความุขเป็น และอยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็น ความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) เป็นทักษะพื้นฐานของทักษะสมองส่วนหน้า พ่อแม่ ครูและผู้ใหญ่ในสังคมที่เกี่ยวข้องกับเด็กต้องลงมือ ส่งเสริม พัฒนาให้เด็กได้มีทักษะความจำเพื่อใช้งานที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเด็กที่พบว่าทักษะในส่วนนี้ยังต้องการการพัฒนามาก และต้องรีบพัฒนาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยปฐมวัยและประถม จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการเรียนรู้ของเด็กให้เรียนรู้เท่าและทันเพื่อนในวัยเดียวกัน


อ้างอิง
• Amanda Morin, 8 working memory boosters, https://www.understood.org/articles/en/8-working-memory-boosters, สืบค้น 22 มีค. 2565
• Rae Jacobson, How to Help Kids With Working Memory Issues, https://childmind.org/article/how-to-help-kids-with-working-memory-issues/https://childmind.org/article/how-to-help-kids-with-working-memory-issues/สืบค้น 29 มีค. 2565