ทักษะอารมณ์และสังคมกับทักษะสมอง EF
พัฒนาการทางอารมณ์และการควบคุมอารมณ์เกี่ยวข้องกับทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) การพัฒนาทักษะอารมณ์และสังคมหมายถึง การมีทักษะสังเกตตนเอง การตระหนักรู้ถึงสภาวะอารมณ์ที่ตนเองเป็นอยู่ และการควบคุมตนเองมีความสำคัญในกระบวนการทำงานระดับสูงของสมอง ในขณะที่เรากำลังพยายามควบคุมพฤติกรรมของเรานั้นสมองส่วนหน้าตรงบริเวณหน้าผากกำลังทำงานอย่างหนักในการควบคุมแรงกระตุ้นภายใน การริเริ่มทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตนเองเห็นควร ตรวจสอบตนเอง รวมทั้งกำลังเรียนรู้จากประสบการณ์ที่กำลังเผชิญ ทักษะต่างๆ เหล่านี้เติบโตและพัฒนาตลอดวัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ การทำงานของสมองส่วนอารมณ์กับสมองส่วนหน้าที่ไม่สมดุลจะสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็กวัยรุ่นที่ไม่ได้รับการฝึกหัดทักษะสมองส่วนหน้า (EF) มาตั้งแต่ยังเล็กต่อเนื่องเพียงพอจะอดทนต่อสิ่งเร้าที่อยู่ตรงหน้าได้ยาก และทั้งนี้เนื่องจากสมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่คิดเหตุผลนั้น ยังไม่เติบโตเต็มที่จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น หรืออายุราวประมาณ 25 – 26 ปี ในขณะที่สมองส่วนกลาง (Limbic System) ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องอารมณ์นั้นเติบโตบริบูรณ์เต็มที่แล้ว
การเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคมสามารถฝึกฝนได้ในทุกวันทั้งที่บ้าน ในโรงเรียนและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทักษะควบคุมอารมณ์ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของ EF มีความสำคัญยิ่งในการช่วยให้คนๆ หนึ่งจะสามารถจัดการกับความกดดันที่เกิดขึ้นในชีวิตอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทักษะนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนตั้งแต่ยังเล็ก โดยเฉพาะกับเด็กที่ขี้วิตกกังวล เด็กพิเศษ เช่น เด็กออทิสติก ADHD ASD เด็กเล็กที่ประสบปัญหาสุขภาพร้ายแรง เด็กที่มีปัญหาเรื่องประสาทสัมผัสในการรับและตีความสิ่งเร้า รวมไปถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษอื่นๆ ซึ่งการจัดการอารมณ์ของตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย เด็กที่ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้หรือไม่ดี นำไปสู่ปัญหาทางสังคม การอาละวาด ฟิวส์ขาดหรือชัดดาวน์ตนเอง มีปัญหาทั้งที่บ้านและในโรงเรียน มีพฤติกรรมหรือนิสัยที่แสดงออกในเชิงลบ ขี้วิตกกังวล ซึ่งส่งผลต่อชีวิตและทำให้มีปัญหาในความสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือแม้แต่มีปัญหาเสพติดสิ่งต่างๆ ง่าย ในงานวิจัยยังพบว่า เด็กซึ่งควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ยากนั้นมีปัญหาในห้องเรียน ไม่กระตือรือร้นในการเรียน งานที่ทำเสร็จส่งครูก็มักทำได้ไม่ดี และทำไม่ค่อยถูก
เด็กที่ขาดทักษะทางอารมณ์บางครั้งจะมีอารมณ์ที่รุนแรงและไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้ เมื่อควบคุมอารมณ์ของตนไม่ได้ จะกระทบถึงความสามารถในการจัดการพฤติกรรมของตนเองและกระทบต่อทักษะการทำงานของสมองส่วนหน้า (EF) เพราะเมื่อไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ทักษะจดจ่อใส่ใจ (Focus/Attention) ก็จะทำงานไม่ได้ดีไม่สามารถจดจำหรือทำตามที่ครู พ่อแม่หรือผู้ใหญ่แนะนำหรือบอกได้ เพราะเมื่ออารมณ์ครอบงำมีบทบาทมากกว่าทักษะสมองส่วนหน้า การทำงานเชื่อมต่อสื่อสารกันของเซลล์ประสาทระหว่างสมองสองส่วนคือสมองส่วนกลางกับสมองส่วนหน้าเป็นไปได้ยากขึ้น
การเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคม เป็นกระบวนการที่ช่วยให้เด็กแต่ละคนได้มีทักษะที่สำคัญในการดำเนินชีวิตสู่ความสำเร็จและความสุข คนที่มีทักษะอารมณ์และสังคมสามารถพัฒนาความสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่น ประพฤติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม เมื่อเจอสถานการณ์ที่ท้าทายและยากลำบากก็สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเล่น การเรียน การใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนและผู้อื่น การแต่งตัว การพักผ่อน การจัดการสถานการณ์ต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้าและการตอบสนองต่อการกระทำของผู้อื่นเป็นไปได้อย่างเหมาะสม ทักษะอารมณ์และสังคมที่เด็กได้รับการพัฒนาช่วยให้เด็กรับรู้อารมณ์ของตนเอง เข้าใจและยอมรับ รวมทั้งมีวิธีการจัดการตนเองและตอบสนองต่อผู้อื่นอย่างที่ควรจะเป็น สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองจากการตัดสินใจอย่างรอบคอบได้
พฤติกรรมของเด็กที่สะท้อนว่ามีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการแสดงอารมณ์หงุดหงิด มีความคิดที่ไม่ยืดหยุ่น มีปัญหาในการนอนหลับ สะท้อนว่าเด็กเด็กกำลังเผชิญกับภาวะบางอย่างเกี่ยวกับทักษะทางอารมณ์และสังคม พ่อแม่ครูและผู้ใหญ่สามารถสังเกตว่า เด็กมีปัญหาทักษะทางอารมณ์และสังคมได้จากพฤติกรรมที่แสดงออก และผลงานที่เด็กๆ ทำ เช่น ดูและสังเกตจาก
- ผลการเรียน/ผลการเรียนรู้เรื่องต่างๆ
- การจัดการความเครียดในเรื่องการเรียน / งานบ้านที่ได้รับมอบหมาย / กิจวัตรประจำวัน
- การตั้งเป้าหมายส่วนตัวในการทำงานที่โรงเรียนหรือความสนใจส่วนตัว
- การตัดสินใจบนบรรทัดฐานของสังคมหรือจริยธรรมในการเล่นการเรียนรู้หรือการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
- ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมกับผู้อื่นตามบรรทัดฐานและความคาดหวังของสังคม อาจจะสังเกตได้ทั้งการประพฤติตน การดูแลร่างกายตนเอง เช่น การอาบน้ำ แต่งตัว
- การแก้ไขข้อขัดแย้งเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับเพื่อน
- การแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
- ตอบสนองต่อคำชม คำแนะนำ การติเตือนทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน
- แสดงกริยามารยาท
- ความเข้าใจในบรรทัดฐานของสังคมทั้งในการเล่นและการปฎิบัติตัวในชุมชน รู้ว่าอะไรควร ไม่ควร
- การมีส่วนร่วมให้ความร่วมมือในการเล่นและการเรียนรู้แบบกลุ่ม
- รู้จักควบคุมอารมณ์ระหว่างที่เล่นเกมหรือเล่นกับเพื่อน
- การู้กาลเทศะ
การสังเกตประเด็นต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วพบว่า เด็กยังทำไม่ได้ดี ไม่ได้หมายความว่าเด็กคนนั้นเป็นเด็กไม่ดี แต่ให้เข้าใจว่า สิ่งที่เด็กยังทำไม่ได้ดีสะท้อนว่า เด็กกำลังต้องการความช่วยเหลือด้วยความเมตตาจากผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีที่เด็กหงุดหงิด หรือการที่เด็กบางคนไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตนได้อาจจะเกิดจากปัญหาการรับรู้ทางประสาทสัมผัส หรือเด็กมีปัญหาในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย และเด็กไม่รู้ ว่าตนเองเป็นอะไร จะจัดการอย่างไร หรือจะแสดงออกอย่างไร เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องใส่ใจ สังเกต เข้าไปช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ตรงจุด
ผู้ใหญ่สามารถช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมได้ด้วยเครื่องมือง่ายๆ ได้แก่
- ช่วยเด็กเชื่อมโยงอารมณ์เข้ากับพฤติกรรม เด็กเล็ก มีภาษาและคำที่จำกัดในการอธิบายความรู้สึกของตนเอง พ่อแม่ครูและผู้ใหญ่ ควรให้ตัวอย่างหรือเล่าสถานการณ์ที่เป็นรูปธรรม ให้เด็กได้เข้าใจว่า ตนเองรู้สึกอย่างไร เช่น ถามว่า เสียงฟ้าผ่าทำให้เขารู้สึกกลัวหรือตกใจใช่หรือไม่ พรุ่งนี้ต้องสอบแล้วรู้สึกกังวลหรือเปล่า เวลาที่ทะเลาะกับพี่กับน้อง เขาแสดงออกอย่างไรเพื่อให้เข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองก่อน แล้วจึงจะสามารถรู้วิธีที่จะควบคุมอารมณ์นั้นๆ
- ยืดหยุ่นและอดทนกับพฤติกรรมที่เด็กๆไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ไม่รีบตัดสิน ตำหนิหรือลงโทษ มองเด็กด้วยมุมมองที่เห็นว่าเด็กที่มีพฤติกรรมไม่น่ารักต้องการความช่วยเหลือ เข้าไปทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนั้น สร้างโอกาสและให้โอกาสเด็กในการเรียนรู้พัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมโดยให้เวลาเด็กฝึกฝน ยอมรับหากล้มเหลว และฝึกฝนต่อ อย่างต่อเนื่องด้วยความเชื่อมั่นในตัวเด็กว่าสามารถดีขึ้นได้เมื่อเรียนรู้
- แบ่งปันความรู้สึกของเราที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่า ไม่ว่าใครๆ ก็ต่างมีความรู้สึกได้ ให้ตัวอย่างและสอนวิธีการจัดการเมื่อตนเองมีปัญหา รวมทั้งให้กำลังใจเด็กๆในการพัฒนาทักษะอารมณ์และสังคม ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันและตัวอย่างที่ได้เรียนรู้จะส่งผลให้ความสัมพันธ์แนบแน่นและเรียนรู้พัฒนาได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคและวิธีการหลายอย่างที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวันที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าและพัฒนาทักษะอารมณ์และสังคม เช่น การวางกิจวัตรประจำวันให้เป็นตารางที่มีความสม่ำเสมอ การสร้างความอบอุ่นในครอบครัว รับฟังความทุกข์ร้อนวิตกกังวลของลูกหรือเด็กๆ ในความดูแลอย่างไม่รีบสอน ไม่รีบตัดสิน พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึก ความคิดกันให้มาก การฝึกสุขนิสัยที่ดีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ชวนให้เด็กได้เล่นอย่างสร้างสรรค์ สร้างโอกาสให้เด็กได้พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวผ่านกิจกรรมทางกายและกีฬา ชวนเด็กฝึกสติอย่างง่ายๆ และให้เทคนิครับมือกับความกังวลความเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยที่มีผู้ใหญ่คือพ่อแม่ครูและใกล้ชิดเป็นทั้งโค้ชและคนที่คอยให้กำลังใจเสมอ
อ้างอิง
• Emotional Regulation and Executive Function,
https://www.theottoolbox.com/emotional-regulation-and-executive-function/ , July 8, 2021