กิจกรรมส่งเสริมทักษะ EF ง่ายๆ สำหรับเด็กปฐมวัย 3-5 ขวบ
เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3-5 ปี ซึ่งเป็นในวัยอนุบาลนั้น ทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ มีความสามารถในการกำกับควบคุมตนเองได้ดีขึ้นอย่างมาก ทั้งในทางร่างกายและการกระทำเมื่อเทียบกับช่วงวัยที่เพิ่งผ่านมา เด็กในช่วงวัย 3-4 ขวบต้องการเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ และระเบียบวิธีในการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงเป็นเวลาที่สำคัญซึ่งครูอนุบาล พ่อแม่และผู้ปกครองต้องคอยแนะ สร้างโอกาสให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เมื่อเข้าสู่วัย 5 ขวบเด็กเรียนรู้ที่จะเป็นอิสระมากขึ้น สามารถทำระเบียบวิถีชีวิตในแต่ละวันของตนเองได้ โดยที่พึ่งพาผู้ใหญ่น้อยลง
กิจกรรมส่งเสริมทักษะสมอง EF ในช่วงวัยนี้ที่มีความสำคัญอย่างมากคือ การได้เล่นตามจินตนาการ เด็ก ๆ ในวัยนี้เดินได้คล่องแคล่ว พูดจารู้เรื่อง ที่มีคลังคำมากพอพัฒนาการที่เกิดขึ้นการที่จะพยายามเรียนรู้สิ่งที่ผู้ใหญ่ที่ตนเห็นว่าทำอะไร เด็กพยายามจำว่าผู้ใหญ่แต่ละคนมีบทบาทและทำอะไรกันบ้าง แล้วนำสิ่งที่ตนเห็นมาเล่น เป็นบทบาทตามนั้น เช่น เล่นหาหมอ เด็กอาจจะเล่นเป็นคนไข้ แสดงอาการเจ็บตรงโน้นตรงนี้ ตามที่ตนเองเคยเป็นหรือเห็นคนอื่นเป็น ให้หมอตรวจ รับยา หรือถูกฉีดยา ร้องไห้ รับยาและวิตามินซีกลับบ้าน หากเล่นเป็นหมอ เด็กอาจเอาหูฟัง (ของเล่น) มาทำท่าฟังเสียงหัวใจ ถามให้คนไข้อ้าปาก ปลอบโยน ฉีดยาให้ หรือเล่นบทเป็นพ่อแม่ ตามประสบการณ์ที่ตนเคยเห็น การเล่นบทบาทสมมุติเป็นการเรียนรู้โลกผ่านการเลียนแบบที่เซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron) ซึ่งอยู่บริเวณ Frontal Lobe ของสมอง ที่เก็บข้อมูลจากสิ่งเร้าที่เราสัมผัสส่งต่อไปยังวงจรเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย และสมองส่วนกลางที่กำกับอารมณ์ความรู้สึก ทำให้เราทำตามและเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้ ผ่านการมองเห็น
เด็กในวัยนี้อาจชอบเล่นคนเดียว หรือเล่นเป็นคู่ อีกทั้งกำลังเรียนรู้ที่จะเล่นร่วมกันกับคนอื่น เวลาเล่นด้วยกัน เราจะเห็นว่าเด็กจะพยายามควบคุมพฤติกรรมของคนอื่นให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่ตนเห็นมา นี่เป็นธรรมชาติของการนำสิ่งที่ตนเองรู้มาลองใช้ดู ฝึกฝน เป็นขั้นตอนหนึ่งที่เกิดขึ้นในเด็กวัยนี้และมีความสำคัญในการพัฒนาการควบคุมตนเองของเด็ก
ครูอนุบาล พ่อแม่ และผู้ปกครอง สามารถส่งเสริมการทำงานและการพัฒนาของทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ผ่านการเล่นสมมุติตามจินตนาการได้มากมาย เพื่อให้เด็กมีโอกาสได้จินตการสูงขึ้น ตั้งแต่อ่านหนังสือให้ฟัง โดยเฉพาะเวลาก่อนนอนให้มาก พาลูกไปเที่ยว เรียนรู้วิถีชีวิต แหล่งเรียนรู้ สถานที่ต่างๆ และใช้วิดีโอสร้างการเรียนรู้ที่เด็กไม่สามารถไปเห็นได้ด้วยตนเอง เพื่อช่วยให้เด็กๆ มีข้อมูลและประสบการณ์หลากหลายในการนำมาจินตนาการ
การจัดหาชุดอุปกรณ์และของเล่นที่หลากหลายช่วยให้เด็กฝึกทักษะฯได้ดีขึ้น สมัยนี้มีอุปกรณ์จำลองของอาชีพต่างๆ มากมาย เช่น มีอุปกรณ์ทำครัวขนาดจิ๋ว อุปกรณ์การแพทย์ ชุดดับเพลิง ฯลฯ หากสามารถจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ได้ เด็กจะรู้สึก “อิน” เหมือนกับตนเองได้ทำบทบาทนั้นจริงๆอย่างมาก แต่หากไม่มี พ่อแม่ ผู้ปกครองและครู อาจช่วยทำให้เด็ก หรือเด็กโตหน่อยก็สามารถนำสิ่งอื่นมาดัดแปลงเป็นของเล่นแทนได้ เช่น เอากระดาษมาตัดหรือพับเป็นมีด เอาเสื้อที่พ่อไม่ใช้มาทำเป็นชุดกาวน์แบบที่หมอใส่ เป็นต้น การนำสิ่งของที่มีอยู่มาใช้ซ้ำแล้วดัดแปลงตามจินตนาการในรูปแบบใหม่ ยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กวัยนี้ได้ฝึกทักษะยืดหยุ่นความคิด อันเป็นทักษะพื้นฐานของทักษะสมอง EF มากขึ้น
อนุญาตและสนับสนุนให้เด็กทำอุปกรณ์ประกอบฉากการเล่นของตัวเอง เช่น เด็กอาจจะเอาผ้าคลุมเตียงมาเล่นเป็นเต็นท์ เอาหมอนข้างมาทำเป็นเรือแล้วนั่งพายเล่น ฯลฯ การให้เด็กได้ทำตามจินตนาการเป็นการให้โอกาสเด็กในการดึงข้อมูลจากประสบการณ์มาทดลองใช้ เวลาเล่นเด็กชอบจะวางแผน และจินตนาการการเล่นเอง ผู้ใหญ่ควรให้โอกาสเด็กได้จดจ่อ ตั้งใจเล่น ให้เด็กได้ตัดสินใจว่าจะทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ได้วางแผน ได้ลองทำ หากไม่ได้ผล เด็กก็จะได้เรียนรู้ที่จะหยุดทำแบบเดิม และเรียนรู้ที่จะใช้ทักษะยืดหยุ่นความคิด คือ ปรับเปลี่ยนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย หรือหากไปถึงเป้าหมายไม่ได้จริงๆ เด็กก็จะเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนเป้าหมายได้เช่นกัน
บทบาทของครู พ่อแม่และผู้ใหญ่จะช่วยเป็นนั่งร้านที่ดีให้แก่เด็กในการเล่นตามจินตนาการ เริ่มแรกคือให้โอกาสเด็กได้ฝึกทักษะของสมองส่วนหน้า คือริเริ่มลงมือทำด้วยตนเอง ตัดสินใจเองว่า อยากจะเล่นเป็นใคร เมื่อเด็กตัดสินใจแล้ว ชวนเด็กคิดว่าจะทำอะไรก่อนเริ่มเล่น ตั้งคำถามง่ายๆ ว่า จะเริ่มทำอะไรก่อน ทำเสร็จแล้วทำอะไรต่อ เพื่อช่วยให้เด็กได้วางแผน หากสามารถทำได้อาจช่วยวาดแผนเป็นรูปภาพง่ายๆลงบนกระดาษ หรือหาวิธีการง่ายๆที่ให้เด็กเรียนรู้ว่า ต้องทำอะไรก่อนหลัง เช่น ชวนกันวางอุปกรณ์เรียงเป็นลำดับ ว่าอันนี้เล่นก่อน อันนี้หยิบทีหลัง การชวนเด็กวางแผนการเล่นเสมอๆ เป็นการชวนให้เด็กคิดก่อนแล้วจึงลงมือปฏิบัติ เป็นการให้โอกาสและท้าทายสมองของลูกให้ฝึกทักษะยับยั้งชั่งใจและยืดหยุ่นความคิด และฝึกภาษาในการคุยแลกเปลี่ยนกัน
กิจกรรมการเคลื่อนไหวประกอบเพลงและการเล่นเกม ยิ่งทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function) ผ่านเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม เพลงที่ใช้ประกอบการเคลื่อนไหวของเด็กวัย 3-5 ขวบให้พัฒนาความซับซ้อน ขึ้นกว่าที่ผ่านมา และกติกาก็พลิกแพลง ท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม สร้างโอกาสให้เด็กๆได้เล่น ได้ใช้ร่างกายทดสอบความท้าทายที่ยากขึ้นกว่าตอนที่เล็กกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นปีนป่าย การทรงตัว และเล่นกระดานหก ข้ามสิ่งกีดขวาง ขี่จักรยาน โดยเฉพาะกิจกรรมที่ท้าทายให้เด็กๆต้องจดจ่อ ยืนหยัดไปให้ถึงเป้าหมาย เช่น การปีนโครงเหล็ก
ให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้กิจกรรมพัฒนาทักษะจดจ่อใส่ใจ ด้วยการเคลื่อนไหวที่ช้าลง หายใจช้าลง ทำท่าโยคะง่ายๆ และใช้เวลาทำสั้นๆ อีกทั้งสามารถใช้ดนตรีหรือเสียงเพลงที่เริ่มจากจังหวะที่เร็ว เพื่อให้เด็กเต้นตาม แล้วค่อยๆช้าลงเพื่อให้เด็กควบคุมร่างกายให้เต้นช้าลงตาม อาจท้าทายให้ยากขึ้นไปอีกนิด ด้วยการหยุดเป็นช่วงๆโดยให้เด็กทำท่าไหนหยุดท่านั้น แล้วชูภาพคนทำท่าอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วให้เด็กเลียนแบบท่าทางตามภาพที่เห็น เป็นการสร้างโอกาสให้เด็กได้พัฒนาทักษะยั้ง หยุดในสมองผ่านกิจกรรมทางกาย และพัฒนาทักษะยืดหยุ่นความคิดปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์หรือคำสั่งที่เข้ามาใหม่
กิจกรรมคัดแยก จับคู่ จัดหมวดหมู่ที่เคยเล่นมาตั้งแต่อายุก่อน 3 ขวบ ยังคงนำมาใช้ได้ โดยพัฒนาให้ท้าทายมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนกติกาและให้โจทย์ใหม่ เช่น ให้จัดกลุ่มของที่สีเหมือนกัน แล้วเปลี่ยนเอาของที่มีอยู่มาจัดแยกตามรูปร่างที่เหมือนกัน ให้ทักษะยืดหยุ่นทางการรับรู้และการคิดได้ถูกทดสอบและท้าทาย
เล่าเรื่องเป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่สามารถทำได้ในบ้าน โดยปกติเด็กมักชอบเล่าเรื่องที่ตนรู้หรือไปพบมา โดยเฉพาะเวลาที่เด็กอารมณ์ดี และรู้สึกว่ามีคนตั้งใจฟังสิ่งที่ตนพูด การให้เด็กได้เล่าเรื่องต่างๆที่อยากเล่า เป็นการสานสายสัมพันธ์ให้เข้าใจกันและผูกพันกันยิ่งขึ้นทุกวัน เด็กในช่วงวัยสามถึงห้าขวบจะเริ่มพัฒนาการเล่าที่ยาวและซับซ้อนขึ้น เป็นการฝึกฝนดึงความจำเพื่อใช้งานออกมาลำดับเป็นเรื่องราวเพื่อสื่อสารออกไปให้คนอื่นได้เข้าใจ ยิ่งเป็นครอบครัวที่พูดกันสองภาษาในบ้าน เด็กยิ่งได้ประโยชน์จากกิจกรรมนี้ เนื่องจากการใช้สองภาษาฝึกฝนสมองส่วนหน้าของเด็กให้ปรับเปลี่ยนการใช้คำ การตีความและโครงสร้างประโยคสลับไปมาระหว่างภาษาทั้งสอง ไม่ว่าภาษาที่สองนั้นจะเป็นภาษาต่างประเทศ หรือเป็นภาษาถิ่น การสอนให้เด็กพูดภาษาที่สองจนคล่องแคล่วเหมือนภาษาแรก จึงเป็นข้อได้เปรียบ และนำมาใช้ประโยชน์ได้มากในการพัฒนาทักษะเด็กในวัยนี้ผ่านการเล่า
วิธีการง่ายที่สุดที่พ่อแม่จะส่งเสริมการฝึกทักษะสมอง EF ของลูกวัยนี้ผ่านการให้ลูกเล่าเรื่อง คือการถามง่ายๆ ว่า ไปทำอะไรมาบ้าง ไหนเล่าให้ฟังหน่อย และเมื่อลูกเล่า ขอให้ตั้งใจฟัง หากพ่อแม่สนใจและจัดเวลาได้ อาจทำบันทึกเล่มเล็ก จดหรือวาดรูปง่ายๆบันทึกสิ่งที่ลูกเล่า หรือให้ลูกขีดเขียนลงในบันทึกด้วยตนเองตามกำลังที่ลูกทำได้ เพื่อเก็บเอาไว้มาดูกันทีหลัง เป็นความทรงจำที่งดงาม
ในห้องเรียน ครูอนุบาลสามารถจัดกิจกรรมนั่งล้อมวงเล่าเรื่องเป็นกลุ่ม ให้เด็กคนหนึ่งทดลองเริ่มเรื่อง คนอื่นๆ ในกลุ่มเพิ่มเติมเรื่องราวต่อลงไป เด็ก ๆ จะได้รับโอกาสฝึกทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) หลากหลายทักษะ ไม่ว่าจะเป็นทักษะกำกับตนเองให้จดจ่อ ตั้งใจฟังสิ่งที่เพื่อนเล่า ควบคุมความตื่นเต้น ประหม่า คิดไตร่ตรอง ดึงเอาความจำเพื่อใช้งานมาคิด ยั้งหรือยืดหยุ่นสิ่งที่คิดไว้กับเรื่องที่ถูกต่อเติมมาแล้ว เด็กจะค่อยๆฝึกและเรียนรู้ทักษะเหล่านี้อย่างไม่รู้ตัว สนุกกับเรื่องที่สนุก ตลก หรืออาจไม่เข้าพวก แต่ก็ดีใจที่ตนได้มีส่วนร่วม
นอกจากกิจกรรมการเล่น การเล่าที่กล่าวมาแล้ว เด็กช่วงวัยสามถึงห้าขวบที่โตสักหน่อยนั้น การช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองทำอาหารง่ายๆ ก็เป็นเรื่องที่สนุก และรู้สึกภูมิใจในศักยภาพของตน การทำอาหารฝึกทักษะสมอง EF หลายอย่าง เด็กได้ฝึกทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) ระหว่างที่ต้องรอจังหวะในแต่ละขั้นตอนของการทำอาหาร ได้ฝึกทักษะความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) ในการจำรายละเอียดและขั้นตอนการทำตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้ฝึกการจดจ่อใส่ใจ ในเวลาที่ต้องนับ หรือทำงานให้เสร็จ การหัดให้ลูกช่วยทำอาหารตั้งแต่เด็กยังเล็ก ตามสภาพที่ตนเองทำได้ ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบงานในบ้านของครอบครัว และทำให้เด็กมีความสามารถในการพึ่งตนเอง
อ้างอิง
Center on the Developing Child, Harvard University, Enhancing and Practicing Executive Function Skills with Children from Infancy to Adolescence, https://46y5eh11fhgw3ve3ytpwxt9r-wpengine.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2015/05/Enhancing-and-Practicing-Executive-Function-Skills-with-Children-from-Infancy-to-Adolescence-1.pdf, สืบค้น 8 เมย.2565