ศน.พิฐชญาณ์ได้เข้าร่วมอบรม EF กับสถาบัน RLG เมื่อ 26 -28 พฤศจิกายน 2561 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ รู้สึกว่าเป็นความรู้ใหม่ที่น่าสนใจ จนตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องทำให้ครูมีการพัฒนา EF ให้เด็กเป็นเป้าหมาย และ ครูต้องออกแบบการเรียนการสอนให้เอื้อต่อการพัฒนา EF มากที่สุด หลังจากนั้นจึงจัดโครงการอบรมผู้บริหารกับครูปฐมวัยโรงเรียนเอกชนในจังหวัดลพบุรี โดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ใช้สื่อความรู้จากสถาบัน RLG เป็นคู่มือและใช้กระบวนการอบรมแบบเดียวกับที่สถาบัน RLG จัด จบแล้วทำปฏิทินออกนิเทศโรงเรียนที่ได้รับการอบรม EF
นอกจากนี้ศน.พิฐชญาณ์ยังเป็นหนึ่งในเลขาฯคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดลพบุรี ร่วมดำเนินงานโครงการพัฒนาแผนขับเคลื่อนบูรณาการปฐมวัย  โดยพยายามนำเสนอเรื่อง EF เพื่อใช้เป็นแนวทางของการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดลพบุรีและสอดแทรกบูรณาการเรื่อง EF เข้าไปในโครงการขับเคลื่อนการศึกษาปฐมวัยเชิงบูรณาการระดับพื้นที่ และในการอบรมครูต่างๆ
ในขณะเดียวกัน ด้วยความเชื่อมั่นในเรื่อง EF เป็นการส่วนตัว จึงเข้าร่วมกับเครือข่ายสาธารณสุขจังหวัดลพบุรีขับเคลื่อนเรื่อง EF ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยบูรณาการไปกับแนวการศึกษา High Scope
 ศน.พิฐชญาณ์ได้ขับเคลื่อนความรู้ EF อย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2564-2565 ได้ทำการขยายผลเรื่อง EF กับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต่างๆ ในจังหวัดลพบุรี

การขับเคลื่อน EF ที่เป็นรูปธรรม

  • จัดโครงการอบรมให้ความรู้เรื่อง EF แก่ผู้บริหารกับครูปฐมวัยโรงเรียนเอกชนในจังหวัดลพบุรี 26 โรงเรียน โดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏลพบุรีและใช้กระบวนการเดียวกับที่สถาบัน RLG จัดอบรม
  • ในฐานะเลขาฯ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดลพบุรี พยายามบูรณาการความรู้ EF ในการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดลพบุรี พ.ศ.2561-2564 และแผนพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัยเชิงบูรณาการระดับจังหวัดลพบุรี พ.ศ.2561-2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้
    คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดลพบุรีโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ประธานคณะอนุกรรมการฯ และผู้แทนจาก 5 กระทรวงหลัก ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลพบุรี สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดลพบุรี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลพบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ได้ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลด้านเด็กปฐมวัยจังหวัดลพบุรี และร่วมกันจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดลพบุรี พ.ศ.2561-2564  และแผนพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัยเชิงบูรณาการระดับจังหวัดลพบุรี (พ.ศ.2561-2564) ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2562 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ของจังหวัดลพบุรี ไว้ว่า “เด็กปฐมวัยจังหวัดลพบุรี มีพัฒนาการสมวัย เป็นคนดี มีวินัยรักการเรียนรู้ มีภูมิคุ้มกันที่ดี มีความพร้อมศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”และกำหนดพันธกิจในการดำเนินงาน ไว้ 5 ข้อ คือ

1. ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาปฐมวัยของจังหวัดลพบุรี

2. ผลิตและพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย

3. สร้างความรู้ ความเข้าใจบนฐานข้อมูลจังหวัดลพบุรีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

4. พัฒนาหลักสูตร นวัตกรรม และงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย

5. สร้างเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัยกับทุกภาคส่วน

การนี้ ได้เสนอโครงการ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับข้อมูลจังหวัดลพบุรี และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดลพบุรี ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการบูรณาการเสริมสร้างศักยภาพเด็กและเยาวชนจังหวัดลพบุรี กิจกรรมบูรณาการความร่วมมือเสริมสร้างคุณภาพเด็กปฐมวัยจังหวัดลพบุรี ได้รับงบประมาณ 1,268,500 บาท มีกิจกรรมดำเนินงาน 3 กิจกรรม ได้แก่ 1) การสร้างความรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดลพบุรี 2) การพัฒนา 1 อำเภอ 1 นวัตกรรมเด็กปฐมวัยคุณภาพ และ 3) ลพบุรีมหานครแห่งการเรียนรู้ โดยจัดเวทีให้เด็กและเยาวชนได้แสดงศักยภาพและเชิดชูเกียรติผู้บริหาร ครู และผู้สนับสนุนงานด้านการศึกษาในพื้นที่ ทั้งนี้ จังหวัดลพบุรีได้มอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลพบุรีเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ ร่วมกับ 5 หน่วยงานหลักดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชน คือ มูลนิธิยุวพัฒน์ เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยครั้งนี้ด้วย

การสร้างประสานเครือข่าย

  •  ร่วมประสานการดำเนินงานพัฒนาเด็กปฐมวัยของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดลพบุรี กับ 5 กระทรวงหลัก ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลพบุรี สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดลพบุรี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลพบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี โดยมีรายละเอียดดังนี้

       1.  ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดลพบุรี ประจำปี 2 ครั้ง มีโครงการ กิจกรรมที่ร่วมกันดำเนินงาน ภายใต้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดลพบุรี

       2.  ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการดำเนินงานร่วมในกิจกรรม 1 อำเภอ 1 นวัตกรรมเด็กปฐมวัยคุณภาพ และกำหนดพื้นที่การพัฒนาเด็กปฐมวัย

       3.  ประชุมพบกลุ่ม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้

       4.  ลงพื้นที่นิเทศ เยี่ยมเสริมพลังร่วมกัน

       5.  ร่วมขับเคลื่อนEF กับเครือข่ายสาธารณสุขจังหวัดลพบุรีในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยบูรณาการกับแนวการศึกษา High Scope

การติดตาม/นิเทศ/ coaching

หลังจากจัดอบรมเรื่อง EF ให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ได้ติดตามนิเทศโรงเรียนเหล่านั้น ดูหน่วยประสบการณ์ประจำวันว่าครูได้ใช้ความรู้ EFอย่างไร ใช้ในหน่วยอะไรบ้าง ใช้ในการจัดแผนและกิจกรรมอย่างไร แล้วสรุปว่ากิจกรรม หน่วยการเรียน เชื่อมโยงไปสู่ EF ได้อย่างไร  บอกครูว่าใช้แผนเดิมก็ได้ แต่ให้ครูเขียนรายละเอียดว่า จากที่ได้รับความรู้ EF ได้ออกแบบกิจกรรมเพิ่มเติมให้มีการพัฒนา EF อย่างไรแล้วมีชิ้นงานหรือร่องรอยอะไรปรากฏให้ดูได้บ้าง

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ส่งผลให้เด็กปฐมวัยมาสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยไม่ต่อเนื่อง จึงปรับกิจกรรมเป็นการลงพื้นที่เพื่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมและการจัดกิจกรรมเท่าที่สามารถจัดได้ โดยคณะกรรมการและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เข้าร่วมการพัฒนาในกิจกรรม 1 อำเภอ1 นวัตกรรมเด็กปฐมวัยคุณภาพ

การต่อยอด/นวัตกรรม/ วิจัย

ปีงบประมาณ 2564-2565 ได้ขยายผลกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยประชาสัมพันธ์ให้กับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่สนใจ (สังกัดสพฐ. 14 แห่ง และสังกัด สช. 3แห่ง ) ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมในการสร้างความรู้ความเข้าใจมาใช้เป็นแบบออนไลน์ การลงพื้นที่ขับเคลื่อนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ผู้บริหารและครูมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเห็นคุณค่าในการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นอันดับแรก โดยเน้นการจัดกิจกรรมที่กระตุ้นทักษะ EF คือ การจำเพื่อใช้งาน การยืดหยุ่นความคิด การยั้งคิด ไตร่ตรอง การจดจ่อใส่ใจ การควบคุมอารมณ์ การริเริ่มและลงมือทำ การวางแผน จัดระบบดำเนินการ การมุ่งเป้าหมาย และการติดตามประเมินตนเอง

การแก้ปัญหาในการขับเคลื่อน EF

  • ศึกษาเอกสารคู่มือพัฒนาทักษะสมอง EF สำหรับครูปฐมวัย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
  • พบกลุ่ม เครือข่าย พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้
  • ทำจริงให้ผู้บริหารได้เห็นผลงาน แม้ว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนในเบื้องต้น

ผลสัมฤทธิ์ / การเปลี่ยนแปลง

  • เด็ก แสดงพฤติกรรมเชิงบวกชัดเจน มั่นใจ และกล้าแสดงออกมากขึ้น โดยเฉพาะการจำเพื่อใช้งาน การยืดหยุ่นความคิด การจดจ่อใส่ใจ การริเริ่มและลงมือทำ การวางแผน การมุ่งเป้าหมาย หากเด็กได้รับการจัดกระบวนการที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ
  • ครู มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีพัฒนาการดีขึ้น มีความละเอียดในการออกแบบกิจกรรม ให้เวลากับเด็กในการคิด พูด แสดงความคิดเห็น สามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและลงมือทำ จากเดิมที่ครูสอนๆ แล้วก็จบไป ไม่มีการ review ให้เด็กได้ทบทวน ไม่มีการเก็บร่องรอย ไม่มีเวลาให้เด็กได้มีสมาธิในการทำกิจกรรม ในทางกลับกันก็พบครูที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ไม่จัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้พฤติกรรมหรือวินัยเชิงบวกของเด็กไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
  • ผู้ปกครอง ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกิจกรรมพานิทานกลับบ้าน เห็นการเปลี่ยนแปลงของบุตรหลาน และเข้าใจครูปฐมวัยมากขึ้น แต่ยังพบผู้ปกครองบางส่วนที่ยังต้องการให้ทางโรงเรียนจัดการเรียนสอนอ่าน
  • ผู้บริหารที่เข้าร่วมโครงการ มีการปรับเปลี่ยนแผนงานโครงการเพื่อรองรับกระบวนการ และเปิดโอกาสให้ทีมโค้ชและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนและนอกห้องเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งเปิดโอกาสให้ทีมได้พบปะผู้ปกครองเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาปฐมวัยตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย
  • ผู้รับผิดชอบการศึกษาปฐมวัยในพื้นที่ ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเด็ก และมูลนิธิที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นสำคัญ เกิดเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่ยั่งยืน