พัฒนาสมรรถนะที่โลกในอนาคตข้างหน้าต้องการ ด้วย “จุดแข็ง” ที่มีอยู่
โลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งทอดยาวอยู่ข้างหน้าเป็นศตวรรษของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ เป็นยุคที่ข่าวสารความรู้ล้นทะลัก มีการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดของผู้คนในทุกมิติทางสังคม เศรษฐานะ วัฒนธรรม รสนิยม และความคิดเห็นทางการเมือง มีการค้าขาย เดินทางข้ามพรมแดน เกิดอาชีพใหม่ๆ พร้อมการตายจากของอาชีพที่อาศัยทักษะของโลกเก่า ไปจนถึงระบบการเงินแบบใหม่ที่ท้าทายและอยู่นอกกรอบของระบบการเงินที่มีอยู่ มีการแบ่งขั้ว มีความขัดแย้งทางความคิด ผลประโยชน์และอำนาจ ในขณะเดียวกับที่การเผชิญปัญหาท้าทายทางด้านสิ่งแวดล้อมต้องการความร่วมมือของคนทั้งโลก โลกที่หมุนเร็วขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย สร้างความผันผวน ซับซ้อน คลุมเครือ คาดไม่ได้อย่างไม่เคยเป็นเช่นนี้ เท่านี้ มาก่อนในประวัติศาสตร์
ทักษะใหม่ในศตวรรษที่ 21 ถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา ว่าคนในศตวรรษที่ 21 นั้นจำเป็นต้องมีตั้งแต่…
1. ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม อันประกอบด้วย
– ความสามารถในการคิดวิเคราะห์
– ความสามารถในการสื่อสาร
– ความสามารถในการร่วมมือทำงานกับผู้อื่น
– ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์
2. ทักษะสารสนเทศ สื่อ เทคโนโลยี
– รอบรู้เทคโนโลยีสารสนเทศ
– เท่าทันสื่อ
3. ทักษะชีวิตและวิชาชีพ
– มีความยืดหยุ่น รู้จักปรับตัว ริเริมสิ่งใหม่
– ใส่ใจดูแลตนเอง รู้จักเข้าสังคม เรียนรู้วัฒนธรรม
– รับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความเป็นผู้นำ
– พัฒนาความเป็นมืออาชีพ หมั่นหาความรู้รอบด้าน
จะเห็นได้ว่าการที่คนๆ หนึ่งจะประสบความสำเร็จในชีวิต คือ มีความสามารถในการพึ่งตนเอง มีความรู้ ความเชี่ยวชาญหาเลี้ยงชีพและดูแลครอบครัวได้ อย่างมีความสุข สุขภาพดี และมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้นั้น มีความจำเป็นต้องเรียนรู้ พัฒนาทักษะความสามารถของตนเองมากอย่างที่ไม่เคยมีการเรียกร้องเช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ นับเป็นแรงกดดันและความคาดหวังอย่างสูงที่มีต่อประชากรในโลกที่แสนสลับซับซ้อนนี้
การเลี้ยงดูเด็กและเยาวชนบนฐานการส่งเสริมและพัฒนา “จุดแข็ง” ของเด็ก เป็นการส่งเสริมความสามารถ พรสวรรค์ ทักษะเฉพาะและบุคลิกภาพที่เป็นพื้นฐานของเด็ก เป็นการพัฒนาเชิงบวกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เด็กมีอยู่โดยเริ่มจากการสังเกตและระบุจุดแข็งต่างๆ ที่เด็กมีอยู่ อาจจะเป็นจุดแข็งทางด้านความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวได้ดี หรือเป็นจุดแข็งด้านทักษะคณิตศาสตร์ หรือมีทักษะทางช่าง เช่น มีหัวทางช่าง สามารถเข้าใจและทำงานด้านช่างได้ดี อาจจะเป็นงานไม้ งานเย็บปักถักร้อย หรือทำอาหาร อาจจะเป็นจุดแข็งทางบุคลิกภาพที่แตกต่างหลากหลาย เช่น มีความเข้มแข็ง มีความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ หรือเป็นคนที่อ่อนโยน มีเมตตา เป็นมิตร ร่าเริง หรืออาจจะเป็นคนสุขุม จริงจัง รวมไปถึงทักษะต่างๆ ที่โลกศตวรรษที่ 21 ต้องการ ซึ่งเด็กบางคนอาจมีจุดแข็งในหลายเรื่อง เด็กบางคนอาจมีจุดแข็งไม่กี่เรื่อง แต่หากเราหาจุดแข็งของเด็กในเรื่องต่างๆ ไม่ได้เลย แสดงว่าเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ยังต้องพยายามเข้าใจ เรียนรู้และสังเกตเด็กให้มากขึ้น ทำนุบำรุงเด็กของเราให้มากขึ้น แล้วหน่ออ่อนของความแข็งแกร่งในเด็กแต่ละคนจะแสดงออกให้เราเห็น
การส่งเสริมและพัฒนา “จุดแข็ง” ที่มีอยู่ช่วยทำให้เด็กแต่ละคน เห็น “คุณค่า” ของสิ่งที่ตนมีอยู่ และเห็นว่าสิ่งที่ตนมีนั้นสามารถแตกต่างจากคนอื่น อีกทั้งความแตกต่างของตนไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ขัดขวางความสำเร็จและความสุขที่เป็นเป้าหมายของชีวิต แต่สิ่งที่ตนมีนั้นสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม คนที่กล้าคิดกล้าทำสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยการสร้างนวัตกรรม คนที่รอบคอบค่อยคิดค่อยทำก็ประสบความสำเร็จได้จากการทำงานที่รอบคอบ คนที่เก่งทางด้านคำนวณและวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จและมีความสุขได้จากการเป็นวิศวกร เป็นนักบัญชี หรือทำงานด้านระบบฯ คนที่เก่งด้านศิลปะประสบความสำเร็จได้การเป็นนักออกแบบ คนทุกคนไม่เหมือนกัน แต่ต่างสามารถเอาสิ่งที่ตนเองมีมากกว่าคนอื่นมาเป็นฐานทุนในการดำเนินชีวิตได้ การที่เด็กพบจุดแข็งของตน นอกจากทำให้เด็กมี Self เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ยิ่งกว่านั้นคือ การสามารถเป็น”ตัวของตัวเอง”ได้ อันเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกชีวิตต้องการ
เด็กประถมที่ตระหนักใน “จุดแข็ง” ของตน มีผู้ใหญ่เห็นและยอมรับ ในช่วงวัยที่อยากทำโน่นทำนี่ จะเป็นโอกาสได้ฝึกฝน “จุดแข็ง” ไปสู่เป้าหมาย ทั้งที่ตนเองตั้งใจ หรือได้รับมอบหมายไปจนสำเร็จ ประสบการณ์ที่ได้รับทำให้ได้เพิ่มพูนทักษะที่ตนมีอยู่ให้แข็งแรงมากขึ้น เชี่ยวชาญมากขึ้น มีประสบการณ์ความรู้สึกลื่นไหล (Flow) ดำดิ่ง รื่นรมย์ในสิ่งที่ตนทำอยู่ เห็นผลสำเร็จซึ่งเกิดขึ้นจากสิ่งที่ตนลงมือทำ เด็กคนหนึ่งที่ลงมือทำงานไม้ ด้วยการทำกล่องใส่ของ นอกจากจะได้ฝึกมือไม้หัดเลื่อยไม้ ประกอบ ติดกาวให้ไม้แผ่นเป็นกล่องขึ้นมา ประสาทสัมผัสของนิ้วทั้งห้า ไม่เพียงส่งกระแสประสาทไปยังสมองให้เซลล์สมองเชื่อมต่อกัน เริ่มต้นเป็นวงจรความเชี่ยวชาญ ที่ต่อไปจะแข็งแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ได้ หากได้รับโอกาสต่อเนื่อง ความรู้สึกลื่นไหลที่เกิดขึ้นคือความสุข ความเพลิดเพลิน การค้นพบ การเรียนรู้ ที่นำไปสู่ความหลงไหลในเรื่องนั้นๆอย่างจริงจังได้ เด็กที่ค้นพบว่าตนเองมีความเชี่ยวชาญและชอบ ก็เท่ากับรู้ว่าตนมี “จุดแข็ง” เป็นฐานทุนที่จะต่อยอดไปเป็นการประกอบอาชีพได้ในอนาคต หากต้องการ
ผลงานที่เกิดขึ้นจาก “จุดแข็ง” ที่มีอยู่ในตัว สร้างในเกิดความรู้สึกมั่นใจในกำลังฝีมือของตน เกิดความภาคภูมิใจ เกิดความรู้สึกอยากทำอีก พฤติกรรมที่เราจะเห็นในเด็กซึ่งพบว่าตนชอบและเชี่ยวชาญในเรื่องใด คือ ขยันทำไม่รู้เบื่อ สิ่งนี้คือ “ความเพียร” ที่เกิดขึ้นด้วยความสุข ความชอบ จะทำให้ได้ตามแผนที่วางไว้แม้ต้องใช้เวลาระยะยาวจนสำเร็จ ความพากเพียรเป็นคุณสมบัติที่งานวิจัยเรื่อง Grit : The Power of Passion and Perseverance ของดร.แองเจล่า ดักเวิร์ธ (Angela Duckworth) พบว่า เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของคนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ
ความเพียร เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความอยู่ดีมีสุขของวัยรุ่น ใน EPOCH Measure ที่นำเสนอโดย Margaret L. Kern, Lizbeth Benson, Elizabeth A. Steinberg และ Laurence Steinberg อันเป็นงานวิจัยบนความร่วมมือของหลายสถาบันที่ดำเนินการกับวัยรุ่น 4,480 คนในประเทศอเมริกาและออสเตรเลีย ที่วัดความอยู่ดีมีสุขของวัยรุ่นจาก 5 มิติของจิตวิทยาเชิงบวก คือ
- การมีส่วนร่วมในสถาบันหรือสังคมที่ตนอาศัยอยู่
- การมีพากเพียรในการทำเรื่องต่างๆให้สำเร็จ
- การมองโลกในแง่ดี
- การมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลอื่น
- มีความรู้สึกเป็นสุข
เด็กที่ได้ใช้ “จุดแข็ง” ที่ตนมีอยู่ สั่งสมความสำเร็จจากการลงมือทำเรื่องต่างๆ ด้วยตนเองวันละเล็กวันละน้อย จะเห็นคุณค่าของตนเอง เป็นสุขมากขึ้นจากที่ทางและบทบาทที่ตนมี ความมั่นใจในศักยภาพของตน การได้โอกาสฝึกฝนสิ่งที่ตนสนใจ ชอบรักที่จะทำ จะส่งผลให้มีความเพียร มุมานะ จนเกิดเป็นนิสัย มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง มีความสุขมากกว่า คนที่มีความสุขและเห็นคุณค่าของตนเอง จะมองโลกในแง่บวก มีความพร้อมที่จะเชื่อมและพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้อื่น เข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมหรือสถาบันที่ตนอยู่มากกว่า
แล้วจะมีเหตุผลอะไรหล่ะ ที่เราจะไม่ส่งเสริมให้ลูกหลานของเราใช้ “จุดแข็ง” ที่มีอยู่ในการเรียนรู้ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข กล้าหาญ และมีความพร้อมที่จะเผชิญโลกในอนาคตที่กำลังกระโดดเข้ามาในชีวิตอย่างรวดเร็ว
อ้างอิง
Margaret L. Kern.,
Lea Waters, How to Be a Strength-Based Parent, https://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_to_be_a_strength_based_parent, 2 October 2018
ปรารถนา หาญเมธี แปลและเรียบเรียง