เป็น “โค้ช” ที่ยอดเยี่ยมของลูก! ไม่ยากเลย
“จุดแข็ง” ตามหลักจิตวิทยา หมายถึง ความสามารถที่แสดงถึงประสิทธิภาพที่สามารถสังเกตได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ จุดแข็งทางความสามารถหรือที่เรียกกันว่า พรสวรรค์ และ จุดแข็งด้านลักษณะนิสัยที่แสดงออกมาเป็นบุคลิกภาพ ความสามารถหรือสิ่งที่เรียกว่า “พรสวรรค์” ที่ติดตัวมานั้น เช่น ความสามารถด้านดนตรี ศิลปะ คณิตศาสตร์ การแก้ปัญหา ฯลฯ ส่วนจุดแข็งด้านลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพเป็นคุณสมบัติภายในที่แสดงออกมา เช่น ความอดทน ความอยากรู้ ความกล้าหาญ ความเมตตา อารมณ์ขัน ฯลฯ
ในงานวิจัยพบว่า เด็กและวัยรุ่นที่พ่อแม่ช่วยชี้ให้เห็น “จุดแข็ง” ที่มีอยู่และสนับสนุนให้พัฒนา “จุดแข็ง” ให้ได้นำเอาออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์นั้นมีความสุขมากขึ้น มีความพากเพียรมากขึ้น เกิดความรู้สึกมั่นใจตนเอง และมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่า เด็กเหล่านี้มีความเครียดน้อยกว่า รับมือกับปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนๆและก่อสานมิตรภาพกับผู้ได้ดี รับมือกับงานหนักโดยเฉพาะการส่งงานตามเวลาที่กำหนดได้ดีกว่า ทำคะแนนในวิชาที่เรียนได้ดีกว่า และยังพบว่าเด็กที่พ่อแม่ส่งเสริมการพัฒนา “จุดแข็ง” มากกว่าการขจัด “จุดอ่อน” นั้นปรับพฤติกรรมโดยทั่วไปในด้านอื่นๆดีกว่าด้วย
นอกจากผลดีที่เกิดกับเด็ก การที่พ่อแม่ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนา “จุดแข็ง”ของลูก ยังก่อให้เกิดผลดีต่อพ่อแม่อีกด้วย ในการศึกษาช่วงปี 2010 ดร.ลี วอเตอร์ส นักจิตวิทยา นักวิจัยชาวออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของโลกด้านการศึกษาเชิงบวก การเลี้ยงดูและการสอนบนฐานการส่งเสริมและพัฒนา “จุดแข็ง” ของมนุษย์ ได้ทำงานวิจัยโดยแบ่งผู้ปกครองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเรียนหลักสูตรการเข้าใจ “จุดแข็ง” และวิธีการส่งเสริมพัฒนา “จุดแข็ง” ของลูก โดยได้รับการอบรมรวม 10 ครั้ง อีกกลุ่มหนึ่งให้เลี้ยงลูกไปตามปกติที่เคยเลี้ยงมา หลังจากนั้นจบหลักสูตรได้ติดตามผล พบว่ากลุ่มผู้ปกครองที่ผ่านการอบรมรู้สึกมีความสุขกับลูกมากขึ้น มั่นใจมากขึ้นว่าตนเป็นพ่อแม่ที่ดี ดร.ลีได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงลูกด้วยการพัฒนา “จุดแข็ง” อาจไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุดของการเป็นพ่อแม่ที่ดี แต่การเลี้ยงลูกโดยเน้นการพัฒนา และให้ความสำคัญกับ “จุดแข็ง” ของเด็ก ได้ช่วยให้เด็กเกิดความรู้สึกดีกับตนเอง ลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าของเด็ก แม้ในยามที่เด็กยังวิตกกังวลเมื่อเผชิญกับปัญหาที่ท้าทาย
วิธีการเลี้ยงลูกโดยเน้นไปที่ “จุดแข็ง” ตามธรรมชาติที่เด็กมีอยู่ เป็นการส่งเสริมความแข็งแกร่งที่ลูกมีอยู่ มากกว่าการเน้นการแก้ไขข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดที่ลูกทำไป นอกจากเด็กจะได้เรียนรู้วิธีใช้อุปนิสัยและความสามารถของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังเป็นการส่งเสริมให้ลูกรู้ว่าจะใช้ “จุดแข็ง” ไปจัดการกับ “จุดอ่อน” ของตนและความท้าทายต่างๆในชีวิตประจำวันที่เผชิญอยู่อย่างไร
การเลี้ยงลูกโดยส่งเสริม “จุดแข็ง” ที่ลูกมีโดยธรรมชาตินั้น เริ่มต้นได้ด้วยการสังเกตเรื่องดีๆ ที่ลูกสามารถทำได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลักษณะนิสัย หรือความสามารถ และบอกสิ่งที่เห็นนั้นให้ลูกได้รับรู้ เช่น “ขอบใจนะลูกที่ทำให้แม่หัวเราะ แม่ชอบที่หนูเป็นคนตลกๆ ทำให้ทุกคนยิ้มได้” หรือ “อื้อหือ หนูวาดการ์ตูน เขียนออกมาเป็นเรื่องเป็นราว แม่อ่านแล้วสนุกจัง” หรือ “แม่รู้ว่า หนูโกรธเพื่อนมากที่มาแย่งของเล่นไป แต่หนูไม่ตีเพื่อน หนูควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีมาก พอเพื่อนมาขอโทษหนูก็ให้อภัย อย่างนี้แหละลูกที่เขาเรียกว่า เป็นคนมีเมตตา” หรือ “แม่เห็นหนูถอนหายใจเฮือกตั้งหลายครั้ง แม่รู้มันยากสำหรับหนู แต่หนูก็ตั้งใจทำการบ้านจนเสร็จ อดทนและตั้งใจอย่างนี้ ทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จนะลูก” ฯลฯ
สิ่งไหนที่ลูกทำได้ด้วยตนเอง เมื่อผู้ใหญ่เห็นและเขาได้รับการบอกให้รู้ว่าสิ่งที่เป็น “จุดแข็ง” ของตนคืออะไร จะกระตุ้นวงจรประสาทในสมองให้เด็กได้เรียนรู้ว่า ตนถนัด ทำเรื่องอะไรได้ดี เก่งและชำนาญในเรื่องนั้นอย่างไร วงจรสมองที่เจาะจงไปที่มุมมองเชิงบวกจะทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้เด็กมีความรู้สึกนึกคิดต่อตัวเองในทางที่ดี เมื่อเจอสถานการณ์ที่ยากลำบาก สิ่งที่เกิดในสมอง จะเป็นภาพหรือความคิดที่เชื่อมั่นต่อความสามารถของตนเอง เช่น “ฉันทำได้” “เดี๋ยวฉันจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นด้วยการทำให้ทุกคนยิ้มออก” “ฉันจะอดทน จนกว่าจะสำเร็จ” ตรงกันข้ามกับเด็กที่ถูกเคี่ยวเข็ญให้ขจัดจุดอ่อน เซลล์ประสาทที่เชื่อมต่อกันจนแข็งแรง มุ่งไปที่ “จุดอ่อน” สิ่งที่จะปรากฏขึ้นก่อนในสมองของเด็กเหล่านี้จะเป็นเรื่องความคิดเชิงลบที่มีต่อตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเสียงในหัวที่ได้ยินมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “ทำไมฉันทำไม่ได้สักที” ทำไมมันยากอย่างนี้นะ” “ฉันขี้เกียจ” “ฉันมันหัวช้า” “ฉันทำไม่ได้หรอก ฉันอ่อนแอเกินไป” “ฉันต้องให้คนอื่นบอกอยู่เรื่อยเลย คิดเองไม่เป็น” เป็นต้น
ดร.ลี ได้ให้เทคนิควิธีการง่ายๆแก่พ่อแม่ในการฝึกฝนตนเองให้ส่งเสริม “จุดแข็ง” ของลูกในแต่ละวัน เช่น ทุกวันให้จดบันทึก “จุดแข็ง” ของลูกที่ตนเห็น 3 เรื่อง ลงให้มือถือหรือสมุดบันทึก เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แล้วเขียนจดหมายถึงลูกบอก “จุดแข็ง” ที่พ่อแม่เห็นในตัวลูก สำหรับลูกที่โตแล้วและมีมือถือของตนเองสามารถส่งข้อความบอก “จุดแข็ง” จากมือถือให้ลูกได้รู้ในวันถัดไปได้ อีกวิธีการที่สามารถทำเป็นกิจกรรมร่วมกันได้ทั้งครอบครัว คือการสร้าง “แผนที่จุดแข็ง” ของครอบครัว แล้วนำไปติดไว้หน้าตู้เย็น ผู้ปกครองที่เข้ารับการอบรมกับ ดร.ลี คนหนึ่งต่อยอดกิจกรรม “แผนที่จุดแข็ง” ด้วยการสร้างโอกาสให้ลูกๆแต่ละคนได้ใช้ “จุดแข็ง” ของตนทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นในบ้าน ด้วยการให้ลูกที่มีจุดเด่นเรื่องนันทนาการรับผิดชอบ “เอนเตอร์เทน” แขกที่มาเยี่ยมบ้าน ส่วนลูกอีกคนที่มีความระแวดระวัง มีความสามารถในการตัดสินใจได้ดี ให้เป็นคนตัดสินใจ ดูแลและจัดการป้องกันไม่ให้เด็กๆที่มาเล่นด้วยกันได้รับอันตราย กิจกรรมดังที่กล่าวมานี้ ทำให้เด็กรู้ว่า ตนมี “ดี” ตรงไหน รู้สึกภูมิใจในตนเองที่สามารถทำเรื่องที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี
คำถามที่มุ่งไปที่ “จุดแข็ง” ของลูก ช่วยให้เด็กเห็นหนทางใช้ความสามารถของตนไปแก้ปัญหาใหม่ๆ เด็กทุกคนมีโอกาสที่จะได้รับงานที่ท้าทายความสามารถ และจะเกิดความกังวลเนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ มาก่อน สิ่งที่พ่อแม่ซึ่งเข้าใจการส่งเสริมพัฒนา “จุดแข็ง” ของลูก จะสนับสนุนลูกให้เกิดความมั่นใจในตนเองได้ ด้วยการตั้งคำถามเชิงบวก เช่น “ลูกคิดว่า จะใช้ “จุดแข็ง” เรื่องไหนของลูก ทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้” หรือ “ลูกคิดว่า จุดแข็ง ของลูกที่มีอยู่ ลูกจะเอามาใช้ในเรื่องนี้อย่างไร” เป็นต้น
ดร.ลี ได้เน้นว่า การส่งเสริมพัฒนา “จุดแข็ง” ของลูกไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่ต้อง “อวย” ลูกอย่างเกินเลย แต่ให้ลูกได้เห็นความเป็นจริงที่ว่า “คนทุกคน” มี “ข้อดี” และควรตระหนักใน “ข้อดี” ที่ตนมีอยู่ เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ในขณะเดียวกันให้ลูกได้เรียนรู้ว่า คนทุกคนล้วนมีข้ออ่อน หรือยังบกพร่องในบางเรื่อง แต่ “จุดแข็ง” ของเราทุกคนทำให้เราไม่เหมือนใครในโลกใบนี้ ทำให้เราสามารถสร้างคุณค่า และความสวยงามให้กับตนเอง ผู้อื่นและโลกใบนี้ได้ตามแบบของเรา “จุดแข็ง” ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นผู้วิเศษเหนือกว่าคนอื่น เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนล้วนมี “จุดแข็ง”
การเลี้ยงดูลูกด้วยการให้ประสบการณ์และมุมมองที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนา “จุดแข็ง” ทำให้เด็กเห็นตัวตนของตนเองชัดเจน และเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเป็นฐานสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดความมุ่งมั่นและมั่นใจตนเอง นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ยังอ่อนด้อยหรือบกพร่องได้ง่ายกว่า การถูกจับจ้อง เคี่ยวเข็ญในเรื่องที่ยังทำไม่ได้ดี สมองส่วนอารมณ์หรือสมองส่วนกลางไม่พึงพอใจ รู้สึกถูกโจมตี ไม่ปลอดภัย เด็กจะเกิดอาการปกป้องตนเอง ต่อต้านโดยไม่รู้ตัว และทำให้ความรู้สึกต่อกันและความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก หรือเด็กกับผู้ใหญ่แย่ลง แม้เด็กไม่ต่อต้าน ก็มักพบว่า เด็กเกิดอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบ มีความทุกข์หรือไม่มีความสุข ไม่ชอบที่ถูกจ้ำจี้จ้ำไช ถูกขัดเกลาข้อบกพร่องของตน
เรื่องที่สำคัญอีกเรื่อง คือ กระบวนการที่เน้นส่งเสริมสนับสนุน “จุดแข็ง” ของลูกทำให้กรอบมุมมองของพ่อแม่กว้างขึ้น มองเห็นความเป็นจริงและยอมรับความแตกต่างของลูกแต่ละคนที่ไม่เหมือนคนอื่น รวมทั้งไม่เหมือนกับพ่อแม่ก็ได้ เมื่อย้าย Mindset จากเดิมที่เข้าใจว่าทำด้วยความหวังดี เคี่ยวเข็ญ กำหนดกรอบ ครอบลูกให้เป็นไปตามที่ตนมาตรฐานและกรอบเกณฑ์ที่ตนเห็นว่าดีเท่านั้น มาเป็น Mindset ที่ส่งเสริมลูกให้งดงาม เติบใหญ่ตามที่ธรรมชาติให้ “จุดแข็ง” มาเป็นหลัก พบว่าทำให้พ่อแม่รู้สึกเป็นสุขและภูมิใจในการเป็นพ่อแม่มากขึ้น และรู้สึกว่าการเป็นพ่อแม่นั้นก็ง่ายขึ้นมากด้วย
อ้างอิง
Dr. Lea Waters, The Strength Switch: How The New Science of Strength-Based Parenting Can Help Your Child and Your Teen to Flourish, Avery Publishing Group, United State, 11 Jul 2017
ปรารถนา หาญเมธี แปลและเรียบเรียง