หา “จุดแข็ง”ของลูกให้เจอ แล้วลงมือพัฒนา

เด็กคนหนึ่ง อาจจะเติบโตขึ้นไปเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง เป็นครูที่ยอดเยี่ยม เป็นวิศกรที่เก่งกาจ หรือเป็นนักเล่นตลกที่เป็นขวัญใจคนทั้งประเทศ หรือเป็นใครก็ได้ที่มีความสุขกับการทำงานที่ตนถนัด ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนเลือก ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม เห็นคุณค่าและภูมิใจของสิ่งที่ตนทำ สิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูสามารถทำได้ตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ คือ การสังเกตการเล่นของเด็ก และสังเกตว่า “จุดแข็ง”ที่เด็กแสดงออกนั้นคืออะไร แล้วสนับสนุนฐานทุนที่เด็กมี ก็จะช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นมาด้วยการรู้ “จุดแข็ง” ของตนทั้งที่เป็น “จุดแข็ง” ทางด้านบุคลิกภาพ  ความสามารถ  และรู้ว่าจะใช้ “จุดแข็ง” ที่ตนมีอยู่ ในการพัฒนาความสามารถและโอกาสของตนอย่างไร จัดการความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นและต่อเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกนี้อย่างไร

ต่อไปนี้คือ “จุดแข็ง” บางอย่างที่เราสามารถสังเกตเห็นได้จากการเล่นของเด็กๆ

จุดแข็งในเรื่อง รู้และความเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดี

เด็กที่มี “จุดแข็ง”ในเรื่องนี้ มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดี แสดงออกเป็นพฤติกรรมที่เข้าไปจัดการเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยความเอาใจใส่และแสดงให้เห็นถึงความรอบคอบ ไม่กลัวความล้มเหลว และมีความยืดหยุ่น เด็กเหล่านี้ยังแสดงออกถึงพฤติกรรมดังต่อไปนี้คือ

  • อยากรู้อยากเห็น
  • ลงมือทำอย่างจริงจังในเรื่องที่ตนเองสนใจ
  • จดจ่อ เรียนรู้จากความผิดพลาด นำประสบการณ์ที่ผ่านมาแก้ปัญหาในปัจจุบัน
  • มี Growth Mindset สนุกกับการพัฒนาตนเองไม่หยุด
  • จัดการความเครียดได้อย่างดี
  • ชอบทำงานอิสระ มักริเริ่มทำอะไรๆด้วยตนเอง
  • ชอบตั้งเป้าหมาย
  • ทำกิจวัตรประจำวัน ตามกฎที่ถูกตั้งไว้

    ทักษะทางสังคมเป็นจุดแข็ง

 หากลูกหลานของเราเป็นคนที่เข้าไปปลอบโยนเพื่อนที่กำลังร้องไห้หรืออารมณ์เสีย รับฟังคนอื่นและแสดงออกถึงการเคารพสิทธิของคนอื่น เช่น ไม่แย่งของเพื่อน อดทนรอให้เพื่อนจัดการเรื่องราวต่างๆจนเรียบร้อยแล้วจึงเข้าไปใช้งานต่อ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เด็กน้อยของเรามีทักษะทางสังคมซึ่งสังเกตเห็นได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้ เช่น

  • เป็นคนที่ชอบและพยายามหาเพื่อนใหม่
  • พูดความจริง เปิดเผย และคิดบวก
  • สนใจฟังในสิ่งที่คนอื่นพูด
  • อ่อนไหวต่อความต้องการของคนอื่น ชอบช่วยเหลือคนอื่น
  • รู้ว่าตอนไหนจะจัดการ และมีวิธีการต้านแรงกดดันจากเพื่อน
  • รู้จักขอความช่วยเหลือ เมื่อต้องการ เป็นต้น

    ทักษะทางด้านภาษา สามารถสังเกตเห็นได้จากการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ลองฟังวิธีที่ลูกเล่าเรื่องราวต่างๆ เป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน รู้จักใช้คำที่แสดงความหมายและศัพท์แสงที่แสดงสัญลักษณ์ ออกท่าออกทางประกอบอย่างเป็นจังหวะจะโคน เด็กที่แสดงออกเช่นนี้เป็นนักสื่อสารที่มีทักษะ พฤติกรรมที่แสดงออกให้เห็น ดังเช่น
  • สนุกกับการเรียนคำศัพท์ใหม่ๆ จดจำได้เร็ว และนำคำศัพท์มาใช้ในการสื่อสาร
  • สนุกกับการฟังเรื่องราวต่างๆ
  • ใช้คำพูดแสดงความต้องการ ความคิด ความรู้สึก
  • รู้จักเปลี่ยนน้ำเสียง เพื่อสื่อความหมาย เช่น ทำเสียงสูงเมื่อถาม
  • เข้าใจการเสียดสี มุกตลก
  • ชอบมีส่วนร่วมในการพูดคุย เถียง ถก กับเพื่อน ในห้องเรียน และที่บ้าน

    การรู้หนังสือ เด็กที่มีจุดแข็งด้านการอ่าน จะแสดงออกผ่านความสามารถในการอ่านและเขียน บอกเล่าความทรงจำที่ตนเองประทับใจ และจินตนาการที่ตนสรรค์สร้างขึ้น เราจะเห็นพฤติกรรมดังต่อไปนี้ในเด็กที่มีจุดแข็งเรื่องการอ่าน
  • สนุกกับการอ่าน
  • ชอบออกเสียงคำที่ไม่คุ้นเคย
  • เอาสิ่งที่อ่านมาเชื่อมกับประสบการณ์จริงในชีวิต
  • เล่าเรื่องราวหลังจากที่อ่านจบ
  • ทำนายว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในเรื่องราวที่อ่าน
  • รู้วิธีสัมผัสและจดจำโครงสร้างของประโยค
  • เข้าใจวิธีการทำตามคำแนะนำที่เป็นรายลักษณ์อักษร เป็นต้น

    ทักษะทางด้านคณิตศาสตร์และตรรกกะ เด็กที่มี “จุดแข็ง”ทางด้านนี้จะแสดงออกถึงความสนใจเรื่องการจัดวาง จัดหมวดหมู่ของเล่น ชอบการไขปริศนา คิดเลขและสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว พฤติกรรมที่พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูสามารถสังเกตเห็นได้ เช่น
  • แยกชิ้นสวนของเล่นแล้วสร้างใหม่ได้
  • สามารถคิดเลขในใจได้ดี
  • สนุกกับการไขปริศนา
  • เปรียบเทียบ จัดกลุ่ม แยกแยะสิ่งต่างๆได้ดี
  • ชอบเล่นเกมส์ฝึกสมอง วางแผน เช่น หมากรุก หมากฮอส เป็นต้น

    ทักษะด้านจินตนาการ แสดงออกให้เห็นง่ายๆจากการวาด การลองเอาโน้นนี้มาสร้างเป็นสิ่งใหม่ตามที่คิดขึ้นมาได้ การชอบดนตรี เสนอความคิดเห็นแก้ปัญหาที่มีมุมมองที่ต่างไป พฤติกรรมที่เรามักเห็นในเด็กกลุ่มนี้ เช่น
  • สนุกกับการวาดและการระบายสี
  • ชอบร้องเพลง ทำเพลงของตนเอง
  • แสดงความสนใจเรื่องเสียงและเครื่องดนตรี
  • ชอบเล่นกีฬา
  • มีแนวคิด มุมมองที่ไม่เหมือนใคร เป็นต้น

เด็กแต่ละคนนอกจากมี “จุดแข็ง”ที่ต่างกัน เด็กบางคนมี “จุดแข็ง”หลายเรื่อง การค้นหา “จุดแข็ง”และความสนใจของเด็ก แล้วลงบันทึกไว้ ช่วยให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูได้ติดตาม สังเกตและพัฒนาเด็กๆได้ ดี จากฐานทุนที่ลูกๆ หลานและลูกศิษย์มีอยู่

ทั้งนี้นักวิชาการสมัยใหม่ชี้ให้เห็นว่า การเลี้ยงลูกโดยมุ่งไปที่การ “ขจัดจุดอ่อน” จะยิ่งทำให้ลูกจดจ่ออยู่ที่ “ปัญหา” ของตัวเอง แทนที่จะสนใจพัฒนาศักยภาพที่ตนเองมีมาเป็นฐานทุน การจดจ่อไปยังเรื่อง “ที่ต้องการการแก้ไข” นอกจากทำให้เด็กเครียด ความสัมพันธ์ภายในบ้าน และโรงเรียนมีความเครียดซึ่งบั่นทอง ทำลายเซลล์สมองในสมอง โดยเฉพาะความเครียดเรื้อรัง พฤติกรรมเด็กที่ถูกขจัดจุดอ่อนนั้นยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ในทางตรงกันข้ามแทนที่จะจดจ่อกับปัญหาที่ต้อง “ขจัด” ออกไป การเห็นข้อดีของลูก ทำให้ลูกรู้จุดแข็งที่ตนเองมี และชวนกันพัฒนาและใช้เวลากับจุดแข็งนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า มีความสุขมากกว่า ทำให้ลูกมีศักยภาพมากกว่าด้วย


อ้างอิง

Webfx, Strength-based Parenting: Identifying and Developing Your Child’s Strength, https://www.bricks4kidz.com/blog/identifying-your-childs-strengths/ , Nov 10, 2020

Lea Waters, How to Be a Strength-Based Parent,   https://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_to_be_a_strength_based_parent, 2 October  2018


ปรารถนา หาญเมธี แปลและเรียบเรียง