สมองต้องการ การชื่นชม (แบบไหน)
ในสมัยรุ่นปู่ย่าตายาย หรือแม้แต่รุ่นของพ่อแม่ที่มีอายุสักหน่อย อาจจะมีประสบการณ์ที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่มักไม่มีคำชมเชย หรือให้กำลังใจในยามที่ทำอะไรได้ดี หรือประสบความสำเร็จ เพราะกลัวเหลิง ด้วยความคิดว่า ความดีเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำอยู่แล้ว จึงสนใจ “จับผิด” มากกว่า “จับถูก” เพื่อขัดเกลาลูกหลานให้เป็นคนที่ดีขึ้นเก่งขึ้น แต่จากการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องสมองของสาขาประสาทวิทยาในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่พบว่า การไม่ชมเชยเด็กอาจส่งผลเสียต่อเด็ก ในวัยของเด็กเล็กต้องการได้รับการเอาใจใส่จากพ่อแม่ผ่านการสนใจและตอบสนอง เด็กที่ทำอะไรได้ดี เช่น ใส่รองเท้าเอง กินข้าวอย่างตั้งใจ กินข้าวเสร็จเอาจานไปเก็บ ฯลฯ แต่ผู้ใหญ่ไม่สนใจ หรือบอกให้รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้น “ดี” อย่างไร กลับสนใจตอนที่เขาซนเกินเหตุ ตีน้องแกล้งคนอื่น และตอบสนองการกระทำด้านลบ นอกจากมีผลกระทบต่อ Self ที่เด็กไม่เห็นมุมดีของตน เด็กที่ต้องการความรัก ความสนใจจากพ่อแม่ผู้ใหญ่ อาจแสดงพฤติกรรมด้านลบเพื่อเรียกร้องความรักความสนใจ เพราะจากประสบการณ์บอกว่า ทำไม่ดี จึงจะได้รับความสนใจ แต่ทำดีไม่มีใครเห็น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วพ่อแม่ทุกคนต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกของตน และในสมัยนี้พ่อแม่จำนวนมากขึ้น รู้ว่าการชื่นชมลูกเป็นเรื่องที่ดี แต่พ่อแม่จำนวนมากก็ยังไม่รู้ว่า การชื่นชมลูกแบบไหนที่ส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่ชมลูกมักใช้คำชมที่คิดว่าจะส่งเสริม Self ของลูกคือ ชมลูกด้วยคำพูดว่า “หนูเก่ง” “หนูดี” หนูทำอย่างนี้น่ารักจัง” เพื่อให้เด็กรู้และเชื่อมั่นว่า ตนเป็นตนเก่ง เป็นคนดี เป็นคนน่ารัก โดยไม่รู้ว่ากำลังสร้าง Fixed Mindset ให้เด็กยึดมั่นถือมั่นว่า ตนเป็นคนดี เป็นคนเก่ง เป็นคนน่ารัก ยิ่งไปกว่านั้นในระหว่างที่ลูกเติบใหญ่ขึ้นมา ในมุมมองของพ่อแม่มักมีความเข้าใจว่า ตนเองนั้นสื่อสารกับลูกและชื่นชมลูกได้ดี ในขณะที่ลูกมักจะคิดในมุมตรงข้าม ว่าการสื่อสารจากความปรารถนาดีของพ่อแม่ ในแบบที่พ่อแม่ทำอยู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ตนต้องการ ในปี พ.ศ. 2528 นักจิตวิทยา HL Barnes และ David H. Orson จากมหาวิทยาลัยมินเนโซต้า ได้ทำงานวิจัยเรื่องการสื่อสารของพ่อแม่และลูกวัยรุ่น โดยทำการสัมภาษณ์พ่อแม่และลูก โดยแยกสัมภาษณ์เกี่ยวกับการสื่อสารของครอบครัว เขาพบว่า พ่อแม่มักจะคิดว่าตนนั้นสื่อสารกับลูกแบบเปิดกว้างและรับฟัง รวมทั้งสื่อสารแบบให้การสนับสนุนลูกของตน แต่เมื่อไปสัมภาษณ์ลูก เด็กกลับมองเห็นไปในทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่พ่อแม่เห็น
ตัวอย่างเช่น ในการพูดคุยกับพ่อแม่เรื่องการเลือกเรียนสาขาในระดับมหาวิทยาลัยของลูก แม่ท่านหนึ่งพูดว่า ตนเองให้อิสระกับลูกในการเลือกอย่างเต็มที่ ไม่ว่าลูกจะเลือกเรียนสาขาวิชาไหน แต่เมื่อพูดคุยกับลูก ลูกสะท้อนว่า แม่บอกเสมอว่า ตนต้องการจะเรียนอะไรพ่อแม่ก็ให้อิสระ แต่ขอให้คิดดีๆ ตนเองนั้นเป็นเด็กเรียนเก่ง มีความสามารถพอที่จะสอบเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ได้ แถมแม่ยังพูดตลอดว่าเลือกเรียนแพทย์นั้นดีอย่างไร ทำไมลูกควรต้องเรียนแพทย์ ตนรู้สึกว่าถูกแม่พยายามโน้มน้าวกึ่งบังคับให้เรียนแพทย์ตามที่แม่หวัง ทั้งที่แม่บอกเองว่าให้อิสระในการเลือก และหากตนไม่เลือกเรียนแพทย์ตามที่แม่พยายามพร่ำบอกว่าดีอย่างไร ตนกำลังจะทำให้แม่เสียใจ แต่ยิ่งกว่านั้นคือ ตนรู้สึกว่า แม่ไม่จริงใจ พยายามพูดให้ดูดี แต่พูดตรงข้ามกับสิ่งที่คิด ทำให้รู้สึกโกรธแม่
ในปี 2557 นักจิตวิทยาพัฒนาการ S. Whittle ได้ทำการศึกษาวิจัยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กที่คิดว่าพ่อแม่ไม่ได้สื่อสารกับตนด้วยความรัก การพิจารณาตามความเป็นจริง หรือยอมรับในความเป็น “ตัวตน” ของลูกนั้น ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเด็ก เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับหรือมีโอกาสน้อยมากที่จะพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการตัดสินใจด้วยตนเอง รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า และมักเป็นโรคซึมเศร้า การศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พ่อแม่ที่ไม่มีทักษะในการสื่อสารเชิงบวกอย่างง่ายๆ กับลูก นั้นส่งผลเสียการการพัฒนาทางสติปัญญาของเด็กมากกว่าที่คิด
ดร.แครอล ดเว็ค (Carol Dweck) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Growth Mindset : The New Psychology of Success” ได้พูดถึงการชมเชยเด็กในแบบต่างๆที่มีผลต่อสมอง Mindset และพฤติกรรมของเด็ก ว่า เด็กที่ได้รับคำชมเชยที่บอกว่า “เก่งที่สุด” “ดีที่สุด” “ยอดเยี่ยมกว่าใคร” ภาพที่เกิดในสมองและการรับรู้ของเด็ก คือ ภาพการเปรียบเทียบระหว่างตนกับคนอื่น ในภาพนั้นตนอยู่ในสถานะหรือตำแหน่งที่ “ดีที่สุด” “เก่งที่สุด” “ยอดเยี่ยมที่สุด” กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นคือ “ฉันคือคนเก่ง” “ฉันยอดเยี่ยม” จากผลการวิจัยพบว่า การที่ผู้ใหญ่ส่งความคิดเช่นนี้ไปให้แก่เด็กส่งผลให้เด็กเกิด Fixed Mindset ซึ่งเป็น Mindset ที่ให้ความสำคัญในการรักษาสถานะ คือการเป็นคนเก่ง คนดี (ตามคำของผู้ใหญ่) มากกว่าที่จะการเรียนรู้ พยายามให้ดีขึ้นไปอีก
ในงานวิจัยที่แสดงให้เห็นผลความก้าวหน้าในการเรียนรู้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การมี Fixed Mindset นั้นขัดขวางความก้าวหน้าในการเรียนรู้อย่างไรนั้น ดร.แครอลได้ทำงานวิจัย โดยแบ่งเด็กประถมฯ ออกเป็น 2 กลุ่ม ให้แก้โจทย์คำปริศนาง่ายๆ เหมือนกัน หลังจากนั้นเฉลยคำตอบซึ่งเป็นคำตอบที่นักเรียนทั้งหมดตอบได้อยู่แล้ว เด็กกลุ่มแรกนักวิจัยให้คำชมว่า “เก่งมาก หนูฉลาดมากเลยค่ะ” ส่วนเด็กอีกกลุ่มได้รับคำชมว่า “หนูมีความพยายามมากเลยค่ะ” ในการทดลองต่อมาให้เด็กทั้งสองกลุ่มทำโจทย์คำปริศนาใหม่ เด็กที่ได้รับคำชมว่า “ฉลาดมาก” ส่วนใหญ่เลือกทำโจทย์ที่มีความง่ายเท่าๆ กับข้อแรกที่ทำไป ในขณะที่เด็กที่ได้รับคำชมว่า “หนูมีความพยายามมาก” จำนวนถึง 90% เลือกทำโจทย์ข้อที่ยากกว่า ในการทดลองครั้งที่ 3 งานวิจัยชิ้นนี้ได้ให้นักเรียนทั้งสองกลุ่มทำโจทย์ที่ยากเกินกว่าจะทำได้ และผลปรากฏว่า ไม่มีนักเรียนคนไหนตอบถูก แต่มีข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ เด็กที่ได้รับคำชมว่ามีความพยายาม “มีความพยายามตามที่ได้รับคำชม” ไม่เลิกล้มง่ายๆ เด็กกลุ่มนี้มีการลองแก้โจทย์ด้วยวิธีการหลากหลายวิธี จดข้อผิดพลาด และมีความคิดว่า หากตนพยายามต่อไป ตนจะหาคำตอบได้
ในการทดลองครั้งที่ 4 เป็นการนำนักเรียนทั้ง 2 กลุ่มกลับมาทำโจทย์ในระดับที่มีความง่ายเท่ากับโจทย์ที่ทำในครั้งแรก หลังจากแก้ปัญหาที่โจทย์สร้างขึ้นเด็กที่ได้รับคำชมว่า “มีความพยายาม” มีผลการสอบที่ดีขึ้น ในขณะที่เด็กที่ได้รับการบอกว่า “เป็นคนเก่ง” ทำคะแนนได้ลดลงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ การทดลองยังดำเนินต่อไป ดร.แครอลได้ให้นักเรียนทั้งสองกลุ่มเขียนเล่าประสบการณ์ในการทำโจทย์ฯ ของการวิจัยครั้งนี้ ให้กับเพื่อนโรงเรียนอื่นอ่าน พบว่า เด็กนักเรียนที่ถูกชมว่าเก่งจำนวนหนึ่งถึงกับเขียนเล่าประสบการณ์เกินจริง บอกว่าคะแนนที่ตนได้มากเกินกว่าที่รับจริงอีกด้วย
การค้นคว้าของ ดร.แครอลแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการชื่นชมเด็กโดยไม่มีความเข้าใจกลไกการทำงานในสมองของเด็ก เด็กที่ได้รับคำชมไปที่ความเก่ง ความฉลาด ชอบให้คนชมว่าตนเองเก่ง ฉลาด ยอดเยี่ยม แต่เมื่อเจอเรื่องยากมากขึ้น จะไม่อยากทำ เพราะกลัวว่า ตนเองจะไม่เก่งในสายตาคนอื่น หรือคิดว่า ตนเองเก่งแค่นี้ ทำมากกว่านี้ไม่ได้หรอก ไม่อยากเรียนรู้ เพราะกลัวกลายเป็นคนไม่เก่งในสายตาคนอื่น ความคิดที่ก่อรูปขึ้นในสมองของเด็กคือตนเป็นคนเก่ง คนดี กลายเป็น Fixed Mindset เรียนรู้มาจากการที่ผู้ใหญ่ใช้คำชมที่ไม่ถูกต้อง ส่วนเด็กที่ได้รับคำชมไปที่พฤติกรรมหรือการกระทำว่า “พยายาม” ภาพที่เกิดในสมองคือ ตนต้องลงแรงพยายามจึงทำได้ดี ส่งผลให้เรียนรู้ ใช้ความพยายามมุ่งไปสู่ความสำเร็จ ไม่กลัวที่จะลองผิดลองถูก กล้าที่จะเรียนรู้และพัฒนาต่อเพื่อไปสู่ความสำเร็จ
นอกจากการใช้คำชมไปที่พฤติกรรม เพื่อให้เด็กมี Growth Mindset อันเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าทุกคนเติบโตต่อไปได้ไม่สิ้นสุดบนการเรียนรู้และพยายาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูและผู้ใหญ่ในสังคม ต้องมองเห็นว่า เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เด็กบางคนมีความสามารถบางอย่างน้อยหรือมากกว่าคนอื่น เก่งหรือดีในบางด้านมากกว่าคนอื่น แต่เด็กทุกคนต่างมีข้อดี หรือ “จุดแข็ง” ของตนเอง ผู้ใหญ่ต้องเลี้ยงดูด้วยการส่งเสริมคุณลักษณะและสมรรถนะเชิงบวกอันเป็นจุดแข็งที่เด็กสามารถทำได้
ในการจะเลี้ยงดูแบบส่งเสริมและพัฒนา “จุดแข็ง” (Strength-Based Parenting) เริ่มต้นจากมุมมองที่ว่า การค้นหา “จุดแข็ง” ของเด็ก การสนับสนุนให้เด็กค้นหา “จุดแข็ง” ของตน และฝึกฝนบนฐานของพัฒนาการตามวัยนั้นเป็นภารกิจของพ่อแม่และผู้ใหญ่ ที่จะช่วยให้ลูกพัฒนาคุณลักษณะและสมรรถนะบนฐานทุนที่ดีที่สุดที่ตนมีอยู่ ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าของตนเอง เกิด Self อันจะเป็นฐานพลังของการฝึกทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ในการเรียนรู้ การคิด การลงมือทำ การแก้ปัญหา การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ด้วยความสุข พัฒนาต่อไปได้ถึงการเลือกอาชีพการงารในอนาคตและการตระหนักถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ของตนที่มีต่อผู้อื่น
ดร. Lea Waters นักจิตวิทยาเชิงบวกชาวออสเตรเลีย ได้ให้มุมมองเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า การสื่อสารเชิงบวกด้วยการชมเชยแบบทั่วๆ ไปไม่ได้ชมแบบเฉพาะเจาะจง เช่น การพูดว่า “ดีมากลูก” “เก่ง ลูก” ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้พัฒนาการของลูกเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ การช่วยให้เด็กมีความเข้าใจและเห็นภาพชัดเจนว่า ตนมี “ดี” อะไร “ดี” อย่างไร ช่วยให้เด็กพัฒนา “จุดแข็ง”ของตนได้มากกว่า ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกนำภาพที่ตนเองวาดมาให้พ่อแม่ดู แทนที่พ่อแม่จะบอกแค่ว่า “สวยมาก” “พ่อ/แม่ชอบมากเลยจ๊ะ” การบอกลูกว่า “พ่อ/แม่เห็นความตั้งใจของลูก” หรือ “พ่อแม่รู้สึกว่ารูปที่ลูกวาดมีความคิดสร้างสรรค์มาก” หรือ “หนูสังเกตสัดส่วนของสิ่งต่างๆได้ดีมาก ภาพที่หนูวาดเหมือนจริง” หรือ “สีที่หนูผสมสดใสจัง” ฯลฯ ตามความจริงที่เราเห็น จะช่วยให้เด็กรับรู้ถึงความสนใจที่พ่อแม่มีต่อตน และเห็น “จุดแข็ง”ของตนชัดเจน ช่วยให้เกิด self และสามารถพัฒนา”จุดแข็ง” ที่ตนมีอยู่ต่อไปได้ด้วยความมั่นใจ
ผลพลอยได้ที่สำคัญอีกอย่างคือ พ่อแม่ได้พัฒนาศักยภาพของตนในการเห็น สังเกต ให้ข้อแนะนำ และพัฒนาคุณภาพในการให้ความสนใจต่อลูกอย่างจริงจัง
อ้างอิง
Howard L. Barnes and David H.Olson, Parent- Adolescent Communication and the Circumplex Model, University of Minnesota, St.Paul, 1985
Carol Dweck, Growth Mindset: The New Psycology of Success, Random House USA Inc, 11 Aug 2011
ปรารถนา หาญเมธี แปลและเรียบเรียง