Social Media กับ Self-Esteem

โซเชียลมีเดีย เปลี่ยนวิถีโลก

สื่อโซเชียลมีเดียมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในวิถีโลกยุคใหม่ มันได้กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย กลายเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินชีวิต ทุกเช้าเราทุกคนตื่นขึ้นมาพร้อมกับกิจกรรมแรกคือ หยิบมือถือมาเช็คดูว่าโซเชียลมีเดียที่เราเกี่ยวข้องนั้น ใครกำลังพูดอะไรกัน ซึ่งในทางบวก มันช่วยในแง่ของการทำงานอาชีพ และการสื่อสารกับผู้คน มันไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมยามว่างอย่างที่เราเคยเข้าใจ โซเชียลมีเดียทำให้คนเข้ามาเชื่อมโยงกันและเกิดปฏิสัมพันธ์กันกว้างขวาง ช่วยให้เราขยายเครือข่ายของเรา มีโอกาสได้พบกับผู้คนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และช่วยให้เราสามารถสื่อสารสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนที่เรารู้จักแล้วในชีวิตจริง ได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและถี่ขึ้น  

กิจกรรมผ่านโซเชียลมีเดียเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าหากันมากยิ่งกว่ากิจกรรมใดๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แม้แต่ในช่วงล็อกดาวน์ของสถานการณ์โควิด ก็เห็นได้ว่าโซเชียลมีเดียช่วยให้มนุษย์ที่จำต้องแยกห่างจากกัน ไม่ตัดขาดไปจากกัน มันเป็นช่องทางเดียวที่ทำให้เพื่อนและครอบครัวจะยังสามารถสื่อสารกันได้ โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตสมัยใหม่ไปเสียแล้ว

โซเชียลมีเดียกับเด็กรุ่นใหม่

กล่าวได้ว่ามันเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของเด็กรุ่นใหม่ งานสำรวจของ.Pew Research Centre ในสหรัฐอเมริกาชื่อ Teens Social Media Habits and Experiences (2018), เปิดเผยว่า 49% ของวัยรุ่นโพสต์ความสำเร็จของตนเองในโซเชียลมีเดีย ในขณะที่มีเพียง 12% เท่านั้นที่โพสต์ปัญหาของตนเอง แต่ปรากฏว่า 43% รู้สึกถูกกดดัน เมื่อเนื้อหาที่เขาโพสต์ลงไปในโซเชียลมีเดียทำให้พวกเขาดูดี 37% รู้สึกถูกกดดัน เมื่อเนื้อหาที่โพสต์ลงไปนั้น ได้รับยอดไลค์และคอมเมนท์มากๆ 26% บอกว่า พวกเขารู้สึกแย่เกี่ยวกับชีวิตตัวเองเพราะโซเชียลมีเดีย

อย่างไรก็ตาม ด้านบวกของโซเชียลมีเดียก็ยังมีน้ำหนักต่อวัยรุ่นมากกว่าด้านลบ งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าวัยรุ่นจำนวนมากเห็นว่า พวกเขาสามารถเชื่อมโยงความรู้สึกของตนเอง กับความรู้สึกและชีวิตของเพื่อน ผ่านโซเชียลมีเดียได้ดี เพราะในชีวิตจริงนั้น เขาไม่อาจไปพบเจอกับผู้คนเหล่านั้นได้สะดวกนัก นอกจากนี้ ยังช่วยให้เด็กได้มีโอกาสทางสังคมเพิ่มขึ้น ได้แลกเปลี่ยนความสนใจของตนกับคนคอเดียวกัน เช่น กีฬา ดารา ศิลปิน เป็นต้น

โซเชียลมีเดียกับ Self-Esteem

การมี Self-Esteem คือเห็นคุณค่าในตนเอง มีสิ่งที่ภาคภูมิใจในตนเอง หรือเคารพตนเอง ซึ่งการมีคุณลักษณะอย่างนี้ จะนำไปสู่สุขภาวะทางจิตใจ ความสำเร็จในอนาคตและ ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ตรงข้ามกับเด็กที่รู้สึกไม่ดีต่อตนเอง ไม่เห็นว่าตนมีอะไรดี  ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง ก็จะห่อเหี่ยวได้ง่าย ท้อแท้ ไม่มีพลังชีวิต ไม่เชื่อมั่นในตนเองว่าจะทำอะไรได้ และอาจไม่อยากพบปะเจอะเจอผู้คน เพราะรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า ฯลฯ  (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Self-Esteem หรือ Self-Respect หรือ Self-Worth ก็ได้)

สำหรับวัยรุ่นบางคน โซเชียลมีเดียอาจทำให้การเห็นคุณค่าในตนเองสูงขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่มี Self- Esteem ค่อนข้างสูง คือ รู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ เรียนเก่ง เป็นนักกีฬา เล่นดนตรี มีครอบครัวอบอุ่น เป็นที่รักของเพื่อน ฯลฯ ที่พวกเขาสามารถนำออกมาเสนอต่อคนอื่นได้ในโลกโซเชียล   

แต่โซเชียลมีเดียจะส่งผลกระทบต่อเด็กในทางลบ เมื่อใช้มันเป็นมาตรวัดว่าคนอื่นชื่นชอบเราเพียงไร หรือเป็นเครื่องวัดความเป็นที่นิยมของตนเอง (Koutamanis, 2015) มีงานวิจัยที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย กับ การเห็นคุณค่าในตนเองของวัยรุ่น พบว่าวัยรุ่นที่มี Self Esteem อ่อนแออยู่แล้ว มักจะมีปัญหาทางจิตใจหนักขึ้น เพราะพวกเขาอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบทางสังคม ระหว่างตัวเองกับคนอื่นๆในโซเชียลมีเดีย  และมักหันกลับมามองตนเองด้วยความรู้สึกหรือภาพพจน์ที่มีต่อตัวเองแย่ลง ซึ่งสภาวะแบบนี้อาจส่งผลกระทบทางลบในระยะยาว ต่อสุขภาวะทางจิตและความอยู่ดีมีสุขในภาพรวมของเด็กคนนั้น

นอกจากการเห็นคุณค่าในตัวเองที่ลดลงแล้ว สื่อโซเชียลมีเดียที่ใช้อย่างไม่เหมาะสม จะสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอาการซึมเศร้า ความรู้สึกโดดเดี่ยวและความเครียด เยาวชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากโซเชียลมีเดีย คือวัยรุ่นหญิงอายุระหว่าง 10-14 ปี ซึ่งกำลังเป็นช่วงวัยที่เริ่มต้นสนใจเรื่องรูปร่าง หน้าตา ความเป็นที่สนใจ และเรื่องการยอมรับของเพื่อน

เด็กที่ได้รับผลทางลบจากโซเชียลมีเดีย ยังอาจเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กลายเป็นคนแปลกแยก หรือเป็นคนขี้หงุดหงิด ผลการเรียนลดลง หรือความสนใจในกิจกรรมอื่นๆลดลง (Verduyn, 2017)

รู้จัก Self-Esteem

งานวิจัยชี้ว่า ความสามารถของมนุษย์เราในการพูดถึงคุณค่าของตนเองออกมาเป็นคำพูดได้ จะเกิดขึ้นเมื่ออายุประมาณ 8 ปี (ประถมปีที่ 2) ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญมากในการพัฒนา Self-Esteem (Orth, 2018)  ในช่วงพัฒนาการขั้นนี้ เด็กจะเริ่มค้นพบความสามารถและบุคลิกภาพของตนเอง แล้วก็จะค่อยๆ พัฒนาตนเองให้เป็นที่รู้จัก สามารถระบุได้ว่าค้นพบตัวเองได้อย่างไร เด็กในช่วงวัยเด็กตอนกลางจนถึงวัยเด็กตอนปลาย (8-10 ขวบ) จะสามารถเข้าใจได้ว่า การประสบความสำเร็จจะช่วยทำให้การเห็นคุณค่าในตนเองสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ถ้ามีความล้มเหลว ก็จะรู้สึกต่อความสามารถของตัวเอง หรือการเห็นคุณค่าของตนเองนั้นลดลง (Orth, 2018)

งานวิจัยยังบอกต่อไปอีกว่า เมื่อเด็กพัฒนาเข้าสู่ช่วงวัยเด็กตอนปลายและวัยรุ่นตอนต้น (10-14 ปี) การยอมรับของพ่อแม่ยังมีผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองอยู่ แต่มีอิทธิพลน้อยลง น้อยกว่าการยอมรับของเพื่อน (Erol, 2011)

ในช่วงวัยรุ่น จะเป็นช่วงพัฒนาการด้านอัตลักษณ์ การเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งของพัฒนาการในช่วงนี้ ดังนั้น การเห็นคุณค่าในตัวเองของวัยรุ่น จึงมีโอกาสที่จะถูกกระทบได้โดยง่าย จากการตอบสนองที่ได้รับจากโลกออนไลน์ ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ (Burrows, 2017) วัยรุ่นมองแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ว่าเชื่อมโยง และรักษาสัมพันธภาพที่พวกเขามีต่อเพื่อน มีการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและผู้คนที่แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เป็นบวกมาก ส่วนด้านลบไม่ใช่แค่การเปรียบเทียบกับคนอื่น หากแต่ในโซเชียลมีเดียนั้น อย่างเต็มไปด้วย การล้อเลียน การรังแก หรือการกดดัน ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่มีแนวโน้มที่จะตีความหมาย หรือตัดสินไปตามที่คนอื่นประเมิน ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกว่า เขาถูกมองอย่างไรในสายตาของเพื่อน ((Valkenburg, 2016). การได้รับ feedback ทางบวกผ่านออนไลน์ จะเสริมพลังการเห็นคุณค่าในตัวเอง ตรงกันข้าม feedback ด้านลบ จะทำให้การเห็นคุณค่าในตนเองของวัยรุ่นลดลง (Valkenburg, 2017) เช่น เด็กหญิงคนหนึ่ง บอกว่ากับสายด่วน The Meic helpline ในสหราชอาณาจักรว่า การเห็นรูปของเพื่อนในโซเชียลมีเดียทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองน่าเกลียดและอ้วน ทำให้เสียความเชื่อมั่นในตัวเอง และเธอกำลังจะไม่กินอาหาร เพื่อที่จะได้ลดน้ำหนักและรู้สึกดีขึ้นกับตัวเอง

โซเชียลมีเดียเป็นภาพลวงตา ไม่ใช่ของจริง

นักจิตวิทยาชี้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่าชีวิตของเราขาดแคลน โซเชียลมีเดียก็มักจะทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตของคนอื่นนั้นอุดมสมบูรณ์กว่า พวกเขากำลังไปได้ดีในขณะที่เราแย่ สิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจก็คือ ธรรมชาติของโซเชียลมีเดียนั้น คนจำนวนมากใช้สื่อโซเชียลมีเดียขยายภาพความสมบูรณ์ของตนเองเกินจริง เลือกภาพถ่ายและข้อความเพื่อโชว์ความสำเร็จ ชีวิตที่เราเห็นในจอจึงไม่ใช่ชีวิตที่เป็นจริง คนที่โพสต์นั้นมักตัดต่อตกแต่ง เติมเต็มชีวิตออนไลน์พวกเขาอย่างที่อยาก เช่นเติมสีตา สีผม ตัดแต่งภาพ ให้สวยงามกว่าที่เป็นจริง

ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ตัวเองดูดี แต่ทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ลงกับตัวเองไปด้วยพร้อมๆกัน

นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังเพิ่มความเครียดเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราอีกหลายทาง เช่น ถ้าเราโพสต์อะไรลงไป เราก็จะคอยเฝ้าประเมินสิ่งที่เราโพสต์ลงไปว่า มีคนไลค์เท่าไหร่ แชร์เท่าไหร่ และคอมเม้นท์อย่างไรบ้าง เราจะคอยเฝ้าเข้าไปดูอยู่ตลอดเวลา จนเราเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบ ว่าเมื่อเราโพสต์เป็นแบบนี้แล้ว คนอื่นที่เขาโพสต์เป็นอย่างไรบ้าง ได้ยอดไลค์ยอดแชร์มากกว่าเราหรือเปล่า

ทั้งที่งานวิจัยโดย สมาคมจิตวิทยาอังกฤษ ในปี 2010 พบว่า การได้รับ “Like” มากๆไม่ได้ทำให้คนรู้สึกดีเกี่ยวกับตัวเอง หรือยกระดับของอารมณ์ที่ตกลงไปให้ฟื้นขึ้นมาได้แต่อย่างใด

แม้เทคโนโลยีเปลี่ยน พัฒนาการของลูกก็ยังก้าวไปแนวเดิม   

สิ่งแรก นักวิจัยบอกว่า แม้สื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตทางสังคมของโลกของเราแล้ว และส่งอิทธิพลสูงต่อจิตใจของเด็ก แต่พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องตระหนักว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปเร็วแค่ไหน แต่พัฒนาการของวัยรุ่นนั้น ก็ยังเป็นไปเช่นเดิม (Orth, 2018) เช่น พวกเขาก็ยังใช้สมองส่วนอารมณ์นำหน้าส่วนเหตุผล พวกเขาก็ยังยึดกลุ่มเพื่อนเป็นสรณะและพยายามเอาตัวออกห่างจากพ่อแม่ พวกเขาเริ่มสนใจมีแฟน พวกเขายังอยากมีที่ยืน ยังค้นหาตัวตนว่าตนเองเป็นใคร และจะมีชีวิตอย่างไร เพียงแต่พื้นที่แสดงออกของพัฒนาการเหล่านี้มันย้ายที่ จากโรงเรียน หน้าโรงหนัง ห้างสรรพสินค้า ย้ายมาอยู่ที่หน้าจอมากขึ้น

ดังนั้น หลักการดูแลพวกเขาก็ยังเป็นแบบ เพื่อนที่ยืนข้างๆ ไม่ห่างไกล แต่ก็ไม่ชิดจนร้อน พวกเขายังต้องการการยอมรับว่าพวกเขาควรมีพื้นที่เพื่อการตัดสินใจด้วยตนเอง พวกเขายังต้องการให้พ่อแม่ยอมให้มีพื้นที่ของเพื่อนในชีวิตของเขา ยังอยากให้พ่อแม่ยอมรับตัวเขา และให้คำปรึกษาเมื่อเขาต้องการ

พ่อแม่จะทำอย่างไร เพื่อช่วยลูกในโลกโซเชียล

การดึงไม่ให้ลูกตกลงไปในกับดักของโซเชียลมีเดียนั้น แท้ที่จริงแล้วยากกว่าที่คิด แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ต้องทำ โซเชียลมีเดียนั้นมีบทบาทสูงมากในชีวิตของวัยรุ่น เพราะจำนวนมากเกิดมาก็ได้สัมผัสแล้ว พวกเขาคิดไม่ออกว่าโลกที่ไม่มีโซเชียลมีเดียอยู่นั้นเป็นอย่างไร มันทำให้พวกเขามักจะคิดว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะ การว่าร้าย วิพากษ์วิจารณ์รุนแรงนั้น เป็นของจริงทั้งหมด

แล้วมันไม่ใช่แค่คิดว่าเพื่อให้ปลอดภัย เราก็ตัดหรือปิดสวิตช์โซเชียลมีเดียเสียให้หมดเรื่อง เพราะนั่นหมายถึงว่า ลูกก็จะถูกตัดขาดจากชีวิตการสื่อสารกับโลกภายนอกด้วย ดังนั้น คำตอบไม่ใช่อยู่ที่การปิดสวิตช์ แต่ควรหาทาง”เสริมอุปกรณ์”ให้ลูกด้วยความรู้หรือวิธีจัดการทางจิตใจ ให้มีมุมมองและวิธีดูแลความคิดจิตใจของตนเอง ที่จะทำให้การเห็นคุณค่าและความเชื่อมั่นในตัวเองไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าโซเชียลมีเดียจะมาไม้ไหน

  • เตือนใจลูกเสมอว่า โซเชียลมีเดียไม่ได้ให้ภาพตามความเป็นจริง แต่มันเป็นการ “สร้างภาพ”
  • คุณค่าของลูกไม่ได้อยู่ที่ความสัมพันธ์ในโซเชียลมีเดีย และคุณค่าของลูกก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของคนอื่น ที่มีมากกว่าเรา อย่าไปเสียเวลาเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าตาเสื้อผ้าหรือวิถีชีวิตใดๆ
  • พ่อแม่ควรรู้ว่าลูกของเราใช้เวลาในโซเชียลมีเดียเท่าไหร่ และ ใช้ในระดับใด จึงจะรู้ได้ว่า มีผลกระทบต่อการเห็นคุณค่าในตัวเองของเด็กเพียงใด (Brewer, 2015).
  • พ่อแม่ควรบ่มเพาะลูกให้ตั้งเป้าหมายของตนเอง ในกิจกรรมอื่นๆเช่น งานจิตอาสา การเล่นกีฬา การทำงานศิลปะสร้างสรรค์ การเข้ากลุ่มชมรม เป็นต้น
  • พ่อแม่ผู้ปกครองคือครูคนแรกของลูก ควรเป็นตัวอย่างของการใช้โซเชียลมีเดียด้วยความระมัดระวัง (เช่นพ่อแม่บางคน โพสต์รูปอาบน้ำซึ่งอาจจะทำให้ลูกรู้สึกอับอาย เมื่อโตขึ้นก็เป็นไปได้) ควรเป็นตัวอย่างของพฤติกรรมเชิงจริยธรรมเช่นขออนุญาตลูกก่อนที่จะโพสต์ ขณะเดียวกันก็ให้ลูกเรียนรู้ที่จะเคารพความเป็นส่วนตัวของคนอื่นด้วย
  • ให้ลูกเรียนรู้ว่า ไม่ใช่ทุกคนในโลกโซเชียลมีเดียที่มีเจตนาดีต่อคนอื่น มันอาจนำมาซึ่งความเสียใจในระยะยาว
  • ชวนให้ลูกใช้ชีวิตอยู่กับผู้คนที่ตัวเป็นๆ ให้มากขึ้น
  • ถ้ารู้สึกไม่ดีบ่อยๆ ก็เลิกใช้ไปชั่วคราว พาตัวเองออกไปจากหน้าจอ ไปทำกิจกรรมอื่นๆ สักพัก

สังเกตสัญญาณที่บ่งบอกว่า การเห็นคุณค่าในตนเองของลูกลดลง

พ่อแม่ลองสังเกตว่า จากลูกที่เป็นปกติ เริ่มมีอาการเหล่านี้ไหม

  • ลูกเริ่มพูดตำหนิตัวเองมาก พูดว่าตัวเองไม่มีค่าอะไร ไม่ความน่าสนใจอะไร ชอบพูดเรื่องลบเกี่ยวกับตัวเอง ชอบตัดสินตัวเอง  ไม่ชอบร่างกายตัวเอง
  • เมื่อมีความผิดพลาดขึ้น ก็เอาแต่ประณามซ้ำเติมตัวเอง แต่ก็ไม่พร้อมที่จะรับคำวิพากษ์วิจารณ์ 
  • มีความรู้สึกเครียด ซึมเศร้า เสียใจง่าย อารมณ์เหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวา
  • กลัวความล้มเหลว ปฏิเสธไม่ยอมรับคำท้าทายใดๆ ยอมแพ้ตั้งแต่ต้น
  • ไม่ยอมทำหน้าที่ของตน เช่นงานบ้านที่เคยรับผิดชอบ
  • คะแนนเรียนตกต่ำลงเรื่อยๆ

ถ้ามันยุ่งยากนัก ก็ Unplug กันทั้งบ้านสักช่วงหนึ่ง

ถ้ารู้สึกว่าโซเชียลมีเดียมีผลกับลูกของเรามาก อาจจะต้องอันปลั๊กกันทั้งครอบครัว ตกลงว่าเราจะไม่ใช้โซเชียลมีเดียสักสองสามวัน แล้วมาตั้งเป้าหมาย ว่าจะขจัดพิษกายของโซเชียลมีเดียนั้นอย่างไร ด้วยการหาอะไรอย่างอื่นทำ เช่น ไปเที่ยวชนบท  เดินป่า ดูหนังด้วยกัน หรือทำกิจกรรมต่างๆของครอบครัวด้วยกัน

คุณครูก็ช่วยได้

ด้วยการจัดให้มีการพูดคุยเรียนรู้ หรือจัดหลักสูตรในห้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสติและปัญญา


อ้างอิง
o Stephanie Hoffman, The impact of social media on self-esteem and how to help, https://hwb.gov.wales
o Rae Jacobson, Social Media and Self – Doubt : How parents can help kids resist the pressure created by artfully curated social media feeds, https://childmind.org
o Sophia Auld, Social media and low self-esteem, https://www.acc.edu.au
o https://thrive.psu.edu/blog/social-media-and-self-esteem/
o Monica Anderson and Jing Jing Jiang, Teens’ Social Media Habits and Experiences
o https://www.pewresearch.org/internet/2018/11/28/teens-social-media-habits-and-experiences/