ตระหนักในกฎแห่งการเรียนรู้ของสมอง
ทันทีที่เด็กเกิดมา สิ่งที่เกิดขึ้นมาแรกสุกคือการพัฒนาระบบประสาทที่เกี่ยวกับการหายใจ การเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหว การมองเห็น และการได้ยินเสียง ทั้งนี้ทารกแรกเกิดจนถึงอายุหนึ่งขวบนั้นมีจำนวนเซลล์สมอง (Neurons) ประมาณหนึ่งแสนล้านเซลล์เช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่มี สมองของเด็กที่มีจำนวนเซลล์สมองเท่ากับที่ผู้ใหญ่มี จะมีการพัฒนาและมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เนื่องจากกระบวนการสำคัญ 2 เรื่อง คือ
1.การเพิ่มขึ้นของจุดเชื่อมต่อเส้นประสาท เรียกว่า synapses ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการที่ได้รับ ประสบการณ์ที่หลากหลาย ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ โดยเฉพาะการที่เด็กทารกได้รับการอุ้ม การก อด และบอกรัก
2. การเพิ่มขึ้นของปลอกประสาท เรียกว่า myelinization ของทารก อันได้จากการได้ดื่มนมแม่ นมแม่ส่งเสริมการสร้างปลอกไมอีลินให้หนาขึ้น จากสารอาหารหลักที่สำคัญคือ ไขมัน โปรตีน แลคโตส นอกจากนี้การได้รับสารอาหารเช่น DHA โคลีน โปรตีน จาก ไข่ ครีม ชีส นม ยังช่วยเสริมสร้างให้ปลอกไมอีลินแข็งแรงขึ้นด้วย
กระบวนการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาท และปลอกไมอีลินที่หนาขึ้น เป็นสองกระบวนการที่ทำให้การสื่อนำสัญญาณประสาทรวดเร็วมากขึ้น
การเพิ่มขึ้นของจุดเชื่อมต่อเส้นประสาทหรือ Synapses คือกระบวนการที่เส้นประสาทขาออก (Axon) ของเซลล์สมองไปแตะเส้นประสาทขาเข้า (Dendrite) อย่างสลับซับซ้อนเกิดเป็นร่างแห (Network) และวงจร (Circuit) ประสาทขนาดใหญ่ กระบวนการนี้เกิดขึ้นพร้อมๆกับการสลายจุดเชื่อมต่อตั้งแต่แรกเกิดของเซลล์ประสาทที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ กระบวนการสลายจุดเชื่อมต่อเรียกว่า Synaptic Pruning เรียกสั้นๆว่า Pruning
กระบวนการตัดแต่งหรือ Pruning จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเด็กอายุประมาณ 6 ขวบเป็นต้นไป จนกระทั่งไปสิ้นสุดที่ประมาณวัยรุ่นตอนกลาง คือประมาณระหว่างอายุ 9-15 ปี เป็นไปเพื่อสลายจุดเชื่อมต่อที่ผิดพลาดหรือมิได้ใช้งาน ทำให้เซลล์สมองมีการจัดเรียงตัวเป็นกลุ่มก้อน เป็นวงจร เป็นร่างแหเฉพาะส่วนที่ได้ใช้งานเพื่อให้เกิดการทำงานที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ดังนั้น การที่จะพัฒนาสมองเด็กและเยาวชนของเราให้มีความเฉลียวฉลาด มีทักษะศตวรรษ ที่ 21 ทั้ง “เก่ง” “แกร่ง” “กล้า” และ “กู๊ด” จากการทำงานของ Executive Function (EF) ในสมองส่วนหน้า จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กต้องมีความเข้าใจ และตระหนักในกฎการเรียนรู้ดังต่อไปนี้ เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาสมองเด็ก
กฎการเรียนรู้ของสมองข้อที่ 1 ทุกประสาทสัมผัส ทุกประสบการณ์จะเชื่อมต่อเซลล์สมอง ยิ่งทำซ้ำ สายใยประสาทยิ่งเกาะเกี่ยวเป็นเครือข่ายวงจรประสาทที่แข็งแรง ทุกประสบการณ์คือการเรียนรู้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมองได้
กฎการเรียนรู้ของสมองข้อที่ 2 การเพิ่มปลอกไมอีลิน (Myelin Sheath) ที่ห่อหุ้มแขนงประสาทส่งออก (Axon) ช่วยให้การส่งสัญญานประสาทเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ส่งข้อมูลหรือส่งคำสั่งระหว่างเซลล์ประสาททำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สมองจะยิ่งประมวลผลได้ดีขึ้น ใยประสาทที่มีไมอีลินแข็งแรงสามารถส่งสัญญานประสาทได้เร็วขึ้นถึง 60 เท่า เราสามารถเพิ่มไมอีลินให้ทารกได้ด้วยนมแม่ การกอด และการฝึกฝน เรียนรู้ลงมือทำเรื่องต่างๆซ้ำสม่ำเสมอ
กฎการเรียนรู้ของสมองข้อที่ 3 “Use it or Lose it” สมองมีการตัดแต่งตนเองโดยอัตโนมัติ สมองเหมือนกับกล้ามเนื้อยิ่งใช้ จะยิ่งแข็งแรง เซลล์ประสาทส่วนใดที่ไม่ได้ถูกใช้จะค่อยตายไป ส่วนเซลล์ประสาทส่วนใดที่ใช้บ่อย จะแข็งแรงและว่องไวขึ้น
กฎการเรียนรู้ของสมองข้อที่ 4 ภาวะความเครียดเรื้อรังทำให้แขนงประสาทหดคุดลง การเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทน้อยลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองได้ ความกลัว ความเศร้า การนอนไม่พอ ความเหงา การใช้ความรุนแรง และการอยู่กับเทคโนโลยีเร็วเกิน ควรล้วนส่งผลเสียต่อสมอง
กฎการเรียนรู้ของสมองข้อที่ 5 สมองแบ่งตามพัฒนาการออกเป็น 3 ส่วน คือ
- สมองส่วนสัญชาตญานทำหน้าที่เพื่อมีชีวิตรอด กำกับระบบการทำงานหลักของร่างกาย เช่น ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร ระบบสืบพันธุ์ และระบบอัตโนมัติอื่นๆ
- สมองส่วนกลางหรือสมองส่วนอารมณ์ (Limbic System) ทำหน้าที่เพื่อความพึงพอใจ มีอารมณ์ความรู้สึกตอบสนองสิ่งต่างๆที่เข้ามาตอบ หรือกระทบความต้องการและเป้าหมายที่มีอยู่ สมองส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำระยะยาวด้วย
- สมองส่วนหน้าเพื่อบริหารจัดการ (Executive Function) มีความสามารถในการไตร่ตรอง คิดหาเหตุผล ควบคุมความคิด การกระทำ สู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
ดังนั้น ในการสร้างการฝึกฝนเรียนรู้พัฒนาเด็กนั้น ต้องค่อยๆฝึกให้สมองส่วนหน้า มีความสามารถในการกำกับส่วนอารมณ์และส่วนสัญชาตญาณให้มากขึ้นเรื่อยๆ
กฎการเรียนรู้ทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นพื้นฐานความเข้าใจในการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า ให้มีความสามารถในการกำกับสมองส่วนอารมณ์และสัญชาตญาณ เพื่อให้สมองมีความสามารถในการบริหารความจำเพื่อใช้งานได้ดี หยุดเป็น เปลี่ยนได้ ควบคุมตนเอง สามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปจนถึงเป้าหมายที่กำหนด
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้อธิบายว่า ในเด็กปฐมวัยสามารถพัฒนาทักษะสมองได้ ด้วยการฝึกฝนให้มีความสามารถในการดูแลตนเอง เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน ใส่เสื้อผ้าเอง กินอาหารเอง ใส่รองเท้าเองได้ เป็นต้น
เมื่อโตขึ้นมาดูแลตนเองได้แล้ว ให้ฝึกฝนให้ดูแลรอบร่างกายตนเอง เช่น กินอาหารเสร็จแล้วเก็บจานให้เรียบร้อย ถอด เสื้อผ้าแล้วเอาไปใส่ในตะกร้าให้เรียบร้อย เล่นของเล่นแล้วเก็บ เมื่อโตขึ้นอีก สามารถช่วยพ่อแม่ดูแลบ้านได้ ให้ช่วยทำงานบ้าน กวาดบ้าน ล้างจาน เอาผ้า ไปซัก ไปตาก ฯลฯ เมื่อก้าวเข้าขึ้นสู่วัยรุ่น นอกจากการดูแลตนเอง รอบกายในบ้านให้พัฒนาเข้าสู่การดูแลพื้นที่สาธารณะ เป็นจิตอาสาทำกิจกรรม และทำงานต่างๆเพื่อสังคม ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า ให้มีบทบาทสำคัญในการคิดเป็น เรียนรู้เป็น ทำเป็น อยู่กับผู้อื่นเป็น และมี ความสุขเป็น ไปพร้อมกับการเป็นคุณค่าตนเอง (Self) ที่มีพัฒนาการสอดคล้องไปตามวัยอย่างเหมาะสมต่อไป
อ้างอิง
- A Quick and Simple Way to Think about the Brain [Infographic], https://www.nicabm.com/brain-a-quick-and-simple-way-to-think-about-the-brain/ สืบค้น 7กย.2564
- Executive Functions, https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4084861/, สืบค้น 7 กย. 2564
- Keiichiro Susuki, M.D., Ph.D., Myelin: A Specialized Membrane for Cell Communication, https://www.nature.com/scitable/topicpage/myelin-a-specialized-membrane-for-cell-communication-14367205/, สืบค้น 7 กย 2564
- Jill Sakai, Core Concept: How synaptic pruning shapes neural wiring during development and, possibly, in disease, https://www.pnas.org/content/117/28/16096, (July 14, 2020)