ความรู้เรื่องสมอง 3 ส่วน

ในระยะหลัง การศึกษาค้นคว้าที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้เราเห็นวิวัฒนาการของสมอง ซึ่งทำให้เข้าใจกลไกการเกิดพฤติกรรม การเรียนรู้ สติปัญญา การตัดสินใจ และทักษะการบริหารชีวิตของมนุษย์ลึกซึ้งขึ้น โดย พอล ดี. แมคลีน Paul  D. Maclean (1913-2007) นักประสาทวิทยาชาวอเมริกัน ได้พัฒนาทฤษฎีสมองสามส่วน บนรากฐานวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

สมองส่วนแรกที่มีวิวัฒนาการขึ้นมาในสิ่งมีชีวิต คือสมองเพื่อการอยู่รอดหรือที่เรียกว่าสมองสัตว์เลื้อยคลาน (Reptilian Brain) บริเวณก้านสมอง ซึ่งเป็นสมองส่วนดึกดำบรรพ์ที่สุดของสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์ สมองส่วนนี้รับผิดชอบชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ ทำหน้าที่หลักในการควบคุมการหายใจ การย่อยอาหารและการสืบพันธุ์ ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ตลอดจนการทำงานอัตโนมัติของสัญชาตญาณอื่นๆ เช่น ปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นอย่างฉับพลันทันที ความต้องการพื้นฐานของสมองส่วนนี้ คือ ความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงจากภัยอันตราย เมื่อความต้องการพื้นฐานนี้ได้รับการตอบสนอง เราจะรู้สึก “สงบ” แต่หากความต้องการพื้นฐานของสมองส่วนสัตว์เลื้อยคลายนี้ไม่ได้รับการตอบสนองเราจะรู้สึก “กลัว”

ที่มารูปภาพ: https://www.business2community.com/online-marketing/neurological-human-buy-button-01197551

สมองส่วนที่วิวัฒนาการสูงขึ้นในระยะต่อมาคือสมองส่วนกลาง หรือลิมบิกซิสเต็ม (Limbic System) ซึ่งอยู่ลึกลงไปตรงกลางสมองวิวัฒนาการขึ้นพร้อมกับวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสมองส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความรู้สึกและความทรงจำ ทำหน้าที่หลักเกี่ยวกับอารมณ์ การเรียนรู้และความจำ แรงขับและการไปให้ถึงรางวัลหรือสิ่งที่ตนต้องการ สมองส่วนนี้มีธรรมชาติที่ไม่มีเหตุผล  แปรผันง่าย สมองส่วนกลางทำหน้าที่ประเมินว่าสิ่งเร้าที่เข้ามาหรือประสบการณ์ที่ตนเผชิญอยู่นั้นตนชอบหรือไม่ชอบ

ความต้องการพื้นฐานของสมองส่วนนี้คือ ความพึงพอใจหรือการได้รางวัล เมื่อความต้องการพื้นฐานของสมองส่วนนี้ได้รับการตอบสนอง เราจะเกิดความรู้สึกพึงพอใจ  อารมณ์ความรู้สึกนี้เองที่เป็นแรงขับเป็นตัวกระตุ้นให้เราลงมือทำบางอย่างตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบ เมื่อความต้องการพื้นฐานของสมองส่วนนี้ไม่ได้รับการตอบสนอง เราจะรู้สึก “คับข้องใจ” สมองส่วนนี้ของมนุษย์พัฒนาเต็มที่เมื่ออายุประมาณสิบห้า จึงเป็นสมองที่แข็งแรงรองลงมาจากสมองส่วนดึกดำบรรพ์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่สมองส่วนนี้ทำงานได้เร็วกว่าสมองส่วนหน้าที่วิฒนาการขึ้นมาทีหลัง แว็บแรกในสมองคนเราโดยเฉพาะเด็กๆจึงมักจะตัดสินอะไรด้วยการยึดผลประโยชน์ส่วนตัว การเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า ถือเอาอารมณ์ความชอบของตนเองเป็นตัวตัดสิน ก่อนการคิดใช้เหตุผล ในศาสนาพุทธเองได้ตั้งข้อสังเกตเห็นปรากฎการณ์นี้ และอธิบายว่า ธรรมชาติของจิตเหมือนน้ำที่ไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ  จิตหรืออีกนัยหนึ่งความนึกคิดของเราจึงจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนยกให้สูงขึ้นหรือมีคุณธรรมอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม อารมณ์อันเป็นหน้าที่ของสมองส่วนกลาง หรือลิมบิกซิสเต็ม (Limbic System) นี้มีประโยชน์และเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตมากเช่นกัน อารมณ์ช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่สำคัญนักในชีวิตประจำวันที่มีเรื่องมากมายเข้ามา เช่น วันนี้จะใส่เสื้อสีอะไรดี จะกินอะไรดีเช้านี้ จะซื้ออะไรไปกินที่บ้านดี การมีสมองส่วนกลางทำหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้ ช่วยทำให้ชีวิตดำเนินอย่างราบรื่นรวดเร็ว ไม่ต้องคิดอะไรมาก เอาที่เรา “ชอบ” เลือกแล้วไม่มีความเสียหายอะไร ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร ไม่เครียด เป็นต้น

สมองส่วนที่พัฒนาขึ้นมาทีหลังสุดของวิวัฒนาการ คือสมองส่วนหน้าหรือสมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์ (Neocortex) ซึ่งมีขนาดใหญ่และซับซ้อนกว่าสมองสองส่วนที่กล่าวมา ในวิวัฒนาการสามล้านปีที่ผ่านมาสมองส่วนนี้ของมนุษย์มีขนาดใหญ่ขึ้นถึง 3 เท่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการที่มนุษย์นำไฟมาทำให้อาหารสุก ทำให้มนุษย์ได้พลังงานจากอาหารมากขึ้น ย่อยอาหารได้เร็วขึ้น ใช้เวลาในการกินอาหารน้อยลงเมื่อเทียบกับความต้องการใช้พลังงานของร่างกาย และระบบย่อยอาหารที่เล็กลงทำให้ร่างกายมีพลังงานเหลือพอไปพัฒนาสมองส่วนหน้าให้มีขนาดใหญ่ขึ้น           

สมองส่วนหน้าทำหน้าที่ในระดับที่สูงขึ้น ความรับผิดชอบหลักของสมองส่วนนี้คือ การจดจ่อต่อเนื่องในสิ่งที่ทำ ความรู้สึกและความปรารถนา คิดเหตุคิดผลที่ซับซ้อน ความคิดนามธรรม การจินตนาการ การจัดการวางแผน ชั่งน้ำหนักทางเลือก ไตร่ตรองหาเหตุผลตัดสินใจ ภาษา ควบคุมแรงกระตุ้นทางอารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจ ควบคุมความคิดและการกระทำ

ความต้องการพื้นฐานของสมองส่วนหน้าคือการมีสายสัมพันธ์และความผูกพันไว้ใจกับผู้อื่น หากความต้องการพื้นฐานนี้ไม่ได้รับจะเกิดอาการ “เจ็บปวดหัวใจ” เสียใจ อกหัก  สมองส่วนหน้าเติบโตเต็มที่เมื่ออายุประมาณยี่สิบห้าปี

ทันทีที่เด็กทารกเกิดมา สมองส่วนสัตว์เลื้อยคลานซึ่งทำหน้าที่ดูแลกำกับการหายใจ การเต้นของหัวใจ ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การทำงานของกระเพาะอาหาร ก็จะทำงานทันทีเพื่อให้มีชีวิตรอด หลังจากนั้นสมองส่วนอารมณ์ที่พัฒนา ตามมาก็สมบูรณ์เต็มที่ในช่วงต้นของวัยรุ่น แต่สมองที่มีเหตุผลต้องใช้เวลาหลายปี และพัฒนาอย่างเต็มที่เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเบญจเพศ

ในระบบการทำงานของสมองนั้น สมองแต่ละส่วนต่างทำหน้าที่ของตนให้สอดประสานกันไป สมองดึกดำบรรพ์ทำหน้าที่พื้นฐานให้มีชีวิตอยู่ได้ สมองส่วนกลางที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ และสมองส่วนหน้าทำหน้าที่คิดอ่านในระดับสูงขึ้นไป  แต่ถ้าสมองส่วนไหนได้ใช้บ่อยจากการได้รับประสบการณ์ ได้รับการฝึกหรือกระตุ้น  สมองส่วนนั้นก็จะขึ้นมามีบทบาทนำที่สำคัญในการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม กำกับพฤติกรรม จนเกิดการแสดงออกเป็นประจำที่เราเรียกว่า เป็นนิสัย

เราทุกคนจึงต่างเคยมีประสบการณ์ที่สมองสองส่วน คือสมองส่วนกลางที่เอาอารมณ์เป็นใหญ่ กับสมองส่วนเหตุผลต่อสู้กันเองภายในหัวของเรา เช่น เราตำหนิตัวเองว่าไม่น่าทำตามใจตนเองแบบนั้น หมายความว่าสมองส่วนหน้ากำลังอบรมสมองส่วนกลาง หรือเราเคยเห็นคนที่รู้ว่าบุหรี่กำลังทำลายสุขภาพของตน แต่ก็ยังอดไม่ได้ที่จะสูบต่อไป ก็พอจะบอกเราได้ว่า สมองส่วนกลางมีพลังมากกว่าสมองส่วนหน้า 

สมองนั้นเป็นศูนย์บัญชาการขับเคลื่อนชีวิต ซึ่งต้องการความสำเร็จในเป้าหมาย และค้นพบคุณค่าของตนเอง มีความสุขที่ยั่งยืน มีสุขภาพดีและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี พัฒนาชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ มีความสามารถฝ่าฟันอุปสรรคที่ทุกชีวิตต้องเผชิญ การเข้าใจสมองส่วนต่างๆว่าทำงานอย่างไร จะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตนเองและผู้อื่น  การเกิดพฤติกรรม การเรียนรู้ และการพัฒนาตนเองได้ดียิ่งขึ้น


อ้างอิง