“พื้นที่ปลอบโยน”

วิธีหนึ่งที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมี “ทักษะ” จนกลายเป็น “นิสัย”ในการปลอบโยนตัวเองได้ยามมีความทุกข์ คือการสอนให้ลูกรู้ว่า ลูกสามารถเอาชนะความทุกข์และอารมณ์ที่รุนแรงได้เสมอ โดยพ่อแม่ใช้ “เครื่องมือ” บางอย่างให้เป็นประโยชน์

เครื่องมือแรก คือ ในบ้านมี “พื้นที่ปลอบโยน” ที่กำหนดไว้ชัดเจน พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่เป็นของเด็กๆ อย่าง แท้จริง ให้เด็กๆ สามารถเข้าไปอยู่บริเวณนั้นได้ตลอดเมื่อรู้สึกไม่สบายใจ  “พื้นที่ปลอบโยน” ต้องไม่ใช่พื้นที่เดียว กับการเข้ามุม(หากบางบ้านยังมีมุมนี้อยู่) เพราะจะทำให้เด็กสับสนระหว่างการปลอบโยนตนเอง กับการ ถูกลงโทษ ในบ้านควรมีเพลงโปรดให้เด็กได้ฟัง หรือมีของเล่นที่ช่วยให้ลูกเพลินและสงบลง หรือแม้แต่มีการออกกำลังกาย เพื่อให้ลูกอารมณ์ดีขึ้น เช่น การออกกำลังกายที่ช่วยกันกำหนดขึ้นในบ้านจากความชอบของเด็กๆ อาจจะเป็นการ เดาะบอลลูกโปรดหรือวิ่งไปรอบ ๆ ก็สามารถนำมาใช้เป็นยาวิเศษที่ช่วยเด็กให้สลัดความทุกข์ ออกไปได้ง่ายอย่าง น่าอัศจรรย์ แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการทำให้เด็กๆ รู้ว่า ตนสามารถขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ได้ตลอดเวลา

ทุกครั้งที่ลูกหลานในบ้านส่งสัญญาณว่ามีความทุกข์ หรือเมื่อเด็กมีอารมณ์แปรปรวน สิ่งแรกที่สำคัญ คือ พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ต้องตอบสนองด้วยความเอาใจใส่ และเอาใจใส่ อยู่กับปัจจุบันขณะนั้นทั้งกายและใจอย่างเต็มที่ กระตือรือร้นรับฟังลูกอย่างตั้งใจ แสดงความรักทั้งด้วยคำพูดที่อ่อนโยนและกิริยาท่าทาง เช่น การสัมผัส การย่อตัว ลงมาที่ระดับสายตาของลูกก็สามารถช่วยคลายอารมณ์ที่ตึงเครียดลงได้

เป็นเรื่องปกติที่เวลาลูกงอแง ร้องไห้โวยวาย แปรปรวนจากอารมณ์ภายใน ก็อาจทำให้พ่อแม่อารมณ์เสีย ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ คือ พ่อแม่สงบสติอารมณ์ หายใจยาวๆ ไว้ก่อน ตั้งใจรับฟังความ รู้สึกของลูก และปลอบโยน การทำเช่นนี้จะทำให้พ่อแม่เข้าใจและเกิดความเห็นใจลูกอย่างแท้จริง

การเอาใจใส่กับโลกภายใน ความรู้สึก และความต้องการของเด็กแต่ละคนที่มีลักษณะ เฉพาะต่างกันไป จะทำให้พ่อแม่และผู้ใหญ่ทุกคนสามารถเรียนรู้ที่จะตอบสนอง ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไปกับเด็กแต่ละคนอย่าง เหมาะสม ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกแน่นแฟ้น เด็กจะรู้สึกว่า ตัวเองมีคุณค่าในสายตาพ่อแม่

การเข้าใจลูกหมายถึงการรับรู้และยอมรับความรู้สึกของลูก ตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กแสดงออกว่ารู้สึกกลัว พ่อแม่และผู้ใหญ่ส่วนมากมักจะบอก ว่า “อย่ากลัว” การบอกเด็กว่าไม่จำเป็นต้องกลัวอาจดูเป็นประโยชน์ แต่สิ่งที่เด็กได้ยินและเข้าใจคือ ความรู้สึกของตนไม่ถูกต้อง หรือมีบางอย่างผิดปกติ หรือการที่รู้สึกแบบนั้นเป็น เรื่องไม่ถูกต้อง การแสดงออกว่ารับรู้และยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจลูก จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่า “ตนมี ความรู้สึกได้” และพ่อแม่แคร์ความรู้สึกของตน ให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนเสมอ

ในแต่ละวันที่ผ่านไป เด็กเล็กทุกคนต่างมีความรู้สึกทั้งด้านบวกและด้านลบเกิดขึ้นเสมอ เช่น ในระหว่าง การเล่น โดยเฉพาะเมื่อเล่นกับเพื่อนซึ่งจะมีปัญหากันได้ตลอดเวลา เด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนอย่างมั่นใจ สบายใจด้วยความจริงที่ว่า แม่จะอยู่ที่นั่นหากพบสิ่งที่ตนไม่สามารถจัดการได้ แม่ยอมรับและสนับสนุนให้ตน เจอทางออก เด็ก ๆ ที่ได้รับประสบการณ์ดีๆเช่นนี้ครั้งแล้วแล้วครั้งเล่า เซลล์สมองจะเกิดการเชื่อมต่อใหม่ ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกลายเป็นวงจรประสาทที่แข็งแรง และ ความรู้สึกปลอดภัยจะกลายเป็นบุคลิกที่เกิดขึ้นจากภายใน ทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้สึกมีพลัง มีคุณค่า และมั่นใจว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตน ตนเองก็สามารถฟื้นตัว ที่ล้ม แล้วลุกได้เสมอ รู้สึกปลอดภัยว่าตนมีใครบางคนที่ตนรัก คอยหนุนอยู่ข้างหลัง

เป็นปกติของทุกชีวิตที่เด็กทุกคนต้องเติบโตขึ้นและออกจากอ้อมอกพ่อแม่ ไปพบเจอโลกภายนอก ฐาน ความรู้สึกปลอดภัยในวัยเยาว์ที่พ่อแม่มอบให้ด้วยการ “มีอยู่จริง” อยู่กับลูก เข้าใจลูกในช่วงเวลาที่ลูกต้องการ ทำให้เด็กมีความมั่นใจ เติบโตไปเป็นคนที่กล้าจะออกไปเผชิญโลก แสวงหาตัวตนและพบที่ทางที่เหมาะสมกับตน รวมทั้งความเป็นไปได้ใหม่ๆในชีวิตอย่างมีคุณค่า

อ้างอิง
•Daniel J Siegel & Tina Payne Bryson, The Power of Showing Up: How Parent Presence Shapes Who Our Kids Become and How Their Brains Get Wired, Random House USA Inc, New York, United States, Jan 5,2021
•Persistent Fear and Anxiety Can Affect Young Children’s Learning and Development, https://developingchild.harvard.edu/wp-content/uploads/2010/05/Persistent-Fear-and-Anxiety-Can-Affect-Young-Childrens-Learning-and-Development.pdf, สืบค้น 3 สค. 2564
•Cory Turner, How To Help A Child Struggling With Anxiety, https://www.npr.org/2019/10/23/772789491/how-to-help-a-child-struggling-with-anxiety, Oct 29,2019