เด็กบางคนโชคร้ายไม่ได้รับโอกาสพัฒนา Self-Esteem จากพ่อแม่ในช่วงวัยเริ่มต้นของชีวิต ก็อาจมีโอกาสครั้งที่สองที่โรงเรียน นี่คือหลักการทั่วไปที่ควรคาดหวังได้
แต่ถ้าครูไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็อาจเป็นโชคร้ายที่ซ้ำสองของเด็กคนนั้น !!??
งานวิจัยมากมายยืนยันว่า ถ้าครูมีศรัทธาในเด็ก เชื่อว่าเด็กมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ และมุ่งมั่นที่จะแปรความรักความเมตตาของตน ให้กลายเป็นความเอาใจใส่ กำลังใจ ให้การกระตุ้นเชิงบวก ให้คำชี้แนะ ให้โอกาสฝึกฝนในสิ่งที่เด็กสนใจ ให้คำชมเชยที่กระบวนการ ครูก็จะมีอิทธิพลต่อชีวิตของเด็กอย่างน่าอัศจรรย์ สามารถสร้างความเชื่อมั่น ให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเองเด็กได้ และนั่นคือการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเด็กอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ มีตัวอย่างมากมายของครูที่สร้าง Self-Esteem ให้แก่เด็ก เช่น ภาพยนตร์ที่สะท้อนบทบาทของครูต่อการสร้างแรงบันดาลใจ และฟื้นความภาคภูมิใจในตนเองของเด็กที่มีลักษณะพิเศษแบบ Dyslexia ซึ่งมีความลำบากในการอ่านหรือตีความคำ ตัวอักษร ฯลฯ ในเรื่อง Taare Zameen Par (Stars on Earth) โดย Aamir Khan ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับโลกชาวอินเดีย
งานวิจัยชี้ว่าคุณลักษณะพึงประสงค์ทั้งหลาย อย่างเช่น “ล้มแล้วลุกได้” (Resilience) หรือความหลงไหลในสิ่งที่ทำ (Passion) รักการเรียนรู้ (Curiosity) หรือแม้แต่การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) ในตัวนักเรียนนั้น ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับบทบาทท่าทีที่ครูมีต่อเด็ก เรามักพบเด็กจำนวนมากที่สะท้อนว่าที่ตนเรียนได้ดี ก็เพราะรักครู ชื่นชอบในตัวครู ครูให้ความใส่ใจ บางครั้งเด็กอาจเคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับวิชานี้ แต่เมื่อขึ้นชั้นมาอยู่กับครูคนนี้ กลับกลายเป็นรักวิชานี้และทำคะแนนได้ดีมาก ก็เพราะรักครู
ดังนั้น “ครูที่มีอยู่จริง” จึงมีความหมายต่อเด็กทุกคน ทุกวัย
ครูที่มีอยู่จริง คือ ครูที่ใส่ใจเด็กแต่ละคน มองเห็นศักยภาพ จุดแข็งจุดอ่อนในตัวเด็ก พร้อมตอบสนองและสร้างโอกาสให้เรียนรู้ ปรับตัว ชี้แนะตามความเป็นจริง ครูเช่นนี้จะสร้างความหวังและเป็นกำลังใจให้เด็กพร้อมที่จะไปสู่ความสำเร็จ “ครูที่มีอยู่จริง” จะมีบทบาทในการพัฒนาความรู้สึกดีต่อตนเอง และรู้สึกมีศักดิ์ศรี หนุนพลังการเห็นคุณค่าในตนเอง และเสริมความเข้มแข็ง ล้มแล้วลุกได้ให้แก่เด็ก
“ครูที่มีอยู่จริง”ต้องมีเจตคติทางบวกต่อตัวเอง และต่อเด็กนักเรียน ต้องมีความเชื่อว่า ;
- เด็กทุกคนต้องการเรียนรู้ และต้องการประสบความสำเร็จที่โรงเรียน ถ้านักเรียนไม่สำเร็จ แสดงว่าต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นเขาอยู่ ซึ่งครูควรหาให้เจอ เพื่อจะคิดค้นหาทางส่งเสริมช่วยเหลือ
- ถ้าเด็กนักเรียนแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนถึงการถดถอย ไม่เห็นค่าตนเอง เช่นดูถูกตนเอง ไม่พยายามตั้งใจเท่าที่ควร ทำตัวก้าวร้าวรังแก หรือทำเป็นตัวตลกไร้สาระ ฯลฯ ครูควรเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้ คือวิธีปิดบังความรู้สึกกลัวหรือความกังวลในตนเอง แทนที่ครูจะมัวไปตำหนิลงโทษ หรือดุว่า… ครูจำเป็นต้องถามตนเองว่า จะหาวิธีลดทอนประสบการณ์หรือความรู้สึกสิ้นหวังของเด็กๆเหล่านี้ได้อย่างไร
- เด็กทุกคนมีจุดดีจุดแข็งของตนเอง ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งผู้ใหญ่เราต้องมองให้เห็น ระบุออกมาให้ได้ แล้วเสริมแรง คู่ขนานกันไปกับการหาทางลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เหล่านี้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะปฏิเสธปัญหาหรือจุดอ่อนของเขา หากแต่ครูเลือกแนวทางที่ส่งเสริมจุดแข็ง ดึงออกมาให้โดดเด่น เพื่อเป็นกำลังใจ มากกว่าจะเสียเวลาไปกับการจี้ย้ำซ้ำเติมในจุดอ่อนของเด็ก ครูจำเป็นต้องสอนนักเรียนให้หาทางออกใหม่ๆ ที่จะให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาจะชื่นชมตนเองได้
- ครูควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ศึกษาของตัวเอง ชวนให้เขาคิดวางแผนและกำหนดจังหวะก้าวเพื่อเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง ไม่ใช่ผู้ใหญ่เป็นคนจัดการให้เสียทุกอย่าง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ครูจะต้องระวังอย่างยิ่งคือ การสร้างความภาคภูมิใจในตัวเด็ก จะต้องไม่อยู่บนผลงานว่าสำเร็จหรือล้มเหลว เพราะนั่นไม่ใช่การสร้างคุณค่าในตนเองที่ยั่งยืนและมีคุณค่าแท้จริง หากจะต้องให้ความสำคัญต่อกระบวนการ การได้มาซึ่งความสำเร็จที่เป็น “ของจริง” เด็กต้องรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าควรค่าแก่การภาคภูมิใจที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ที่ได้มีความคิดมุมมองใหม่ๆ ที่ได้ใช้ความพยายามของตนเองอย่างมุ่งมั่นจริงจัง
ครูยังเสริม Self-Esteem ของเด็กได้ด้วยการให้เสียงสะท้อนกลับ (Feedback) ที่ตรงไปตรงมา แต่สร้างสรรค์ให้กำลังใจ ให้เขาเห็นและภาคภูมิใจในจุดแข็งของเขา มั่นใจขึ้นว่าตนเองเริ่มมีทุนชีวิตที่สะสมเพิ่มขึ้น แม้จะทีละเล็กทีละน้อย เพื่อที่จะนำทุนชีวิตเหล่านี้ ไปใช้ได้ในการเผชิญหน้ากับอนาคตที่ไม่แน่นอนข้างหน้า ขณะเดียวกันเด็กก็เห็นจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงพัฒนาของตนเอง และได้ร่วมวางแนวทางแก้ไขตนเองด้วยการฝึกใช้สมองตรองคิดด้วยตนเอง โดยครูให้ “ลองคิดดูสิว่า เธออยากจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร” แล้วครูค่อยเติมเต็มตามสมควร แต่ไม่ใช่ครูเป็นผู้สั่งให้แก้ไขปรับปรุงอย่างโน้นอย่างนี้
ครูยังอาจจะมีบทบาทในการเสริมสร้าง Self-Esteem ของเด็กได้อีก ด้วยการหาทางกระตุ้นให้เด็กลองคิดเรื่องใหม่ๆ มีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เมื่อครูให้โจทย์ที่แปลกใหม่ ท้าทาย และให้ความเชื่อมั่นไปพร้อมกันด้วยว่า ครูว่าเธอทำได้ เด็กๆจะกล้าท้าทายตนเอง รับโจทย์แล้วคิดค้นหาทาง เมื่อเขาทำได้ แก้ปัญหาได้ทีละเปลาะ นั่นคือรางวัลความภาคภูมิใจที่จะหล่อเลี้ยงพลังในการเผชิญสิ่งท้าทายอื่นๆ ต่อไป
เมื่อเด็กคนหนึ่งเกิด Self -Esteem ขึ้นในห้องเรียน มันจะมีพลังที่ส่งต่อไปยังเด็กคนอื่นๆ ให้อยากที่จะท้าทายและสะสมความรู้สึกนั้นเช่นเดียวกัน บรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียนก็จะเปลี่ยนไป