หลากหลายวิธี ฝึก EF ที่บ้านได้

หากในชีวิตประจำวันเรากำลัง

          …ตั้งใจเรียนหรือทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เสร็จสำเร็จลง แม้ว่าเรื่องนั้นน่าเบื่อมาก

          …พยายามไม่ใส่ใจเรื่องที่กวนใจหรือเรื่องที่เข้ามาแทรก แล้วรบกวนสิ่งที่เราต้องตั้งใจทำให้สำเร็จ

          …มีข้อมูลจำนวนมากมายอยู่ในหัวที่ต้องจัดการและขบคิด ในเวลาเดียวกัน

          …ระงับบังคับตัวเองไม่ให้พูดหรือทำสิ่งใดลงไป แล้วทำให้ตนเองเดือดร้อน

          …จำต้องเปลี่ยนสิ่งที่กำลังทำอยู่ไปจากเดิม เนื่องจากสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากที่                 คาดคิด

สถานการณ์ทั้งหมดดังได้กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของทุกคน

ในขณะที่พฤติกรรมของเราแสดงออกไปตามที่กล่าวมา แทนที่จะเลิกทำหรือบ่นโวยวายเมื่องานน่าเบื่อกลับอดทนทำจนเสร็จเรียบร้อยดี ไม่มัวเสียเวลากับเรื่องกวนใจจนทำงานไม่ได้ แต่พยายามจดจ่อทำงานไม่ให้ผิดพลาด ไม่โพล่งพูดจาให้ตนเองหรือผู้อื่นเสียหาย ยั้งคิด ไตร่ตรอง ก่อนพูดเสมอ ตัดใจเปลี่ยนแผนเมื่อรู้ว่าทำต่อไม่ได้ ไม่ทู่ซี้ตามใจตน รู้จักยืดหยุ่น พลิกแพลง พฤติกรรมที่แสดงออกมาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สมองส่วนหน้าบริเวณหลังหน้าผากซึ่งเป็นสมองส่วนที่วิวัฒนาการมาหลังสุดของสิ่งมีชีวิต กำลังทำหน้าที่เชิงบริหารจัดการ (Executive Function: EF) ด้วยกระบวนการขั้นพื้นฐานในการกำกับตนเอง โดยการใช้ทักษะ (Skills) ที่ได้รับการฝึกฝน ปลูกฝังมาจัดการ ไม่ว่าจะเป็นทักษะ เช่น

  • จดจ่อใส่ใจ อันเป็นความสามารถในการจดจ่อกับงานเฉพาะที่อยู่ตรงหน้าแม้ว่างานนั้นจะไม่น่าสนใจสักนิด
  • ยั้งคิดไตร่ตรอง อันเป็นความสามารถในการปิดรับสิ่งเร้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่อยู่ตรงหน้า
  • จำเพื่อใช้งาน อันเป็นความสามารถในการเก็บข้อมูลที่จำเป็นไว้ในสมอง แล้วนำออกมาใช้ในการตัดสินใจและ  หาเหตุผล
  • ยั้งคิด กำกับควบคุมอารมณ์ตนเอง ไม่โพล่งพูดโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง
  • ยืดหยุ่นใช้งาน ปรับเปลี่ยน เมื่อกฎเกณฑ์หรือสถานการณ์แวดล้อมเปลี่ยนไป

ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว เราใช้ทักษะเหล่านี้ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งในชีวิตแต่ละวันเสมอ ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ฝึกฝนทักษะ EF เหล่านี้ให้แก่เด็กทุกคน เพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีความสุข ประสบความสำเร็จในชีวิต จากการที่คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับผู้อื่นเป็น และมีความสุขเป็น

การฝึกฝนทักษะสมองส่วนหน้าทำได้ตั้งแต่ยังอยู่ในช่วงปฐมวัย ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี ตั้งแต่เล่นเกมง่ายๆ เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินและการเรียนรู้ เช่น

ใช้การ์ด ที่ประกอบด้วยภาพรูปทรงง่ายๆที่แตกต่างกัน สำหรับเด็กปฐมวัยไม่ว่าจะเป็นรูปทรงกลม สามเหลี่ยมสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยมรวมทั้งที่เป็นรูปทรงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงกระต่าย รถแบบต่างๆ บ้านแบบต่างๆ ต้นไม้แบบต่างๆ ฯลฯ และทำให้รูปทรงต่างๆแต่ละรูปทรงมีสีที่แตกต่างกันไป เช่น มี กระต่ายสีแดง กระต่ายสีเหลือง ฯลฯ มีรถสีม่วง รถสีฟ้า ฯลฯ เกมส์การเล่นให้เริ่มจากการหา “รูปทรง” ต่างๆ และหลังจากนั้นให้ “เปลี่ยนกติกาการเล่น” อาจจะเปลี่ยนไปเป็นการหาสีที่เหมือนกัน เช่น หารถสีฟ้า กระต่ายสีฟ้า บ้านสีฟ้า พัฒนาการของวัยสามขวบนั้น เด็กในวัยนี้จะยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนความคิดได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เด็กจะยังคงทำตามแบบที่เคยทำมาคือ เลือกของจากรูปทรงที่เหมือนกัน การฝึกให้เด็กตอบโจทย์ที่เปลี่ยนกติกา ทำให้ทักษะสมองส่วนหน้า EF ได้ฝึกยั้งคิดไตร่ตรอง ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนไปเลือกการ์ดตามโจทย์ใหม่ที่ได้

          เล่นเกม “บันไดงู” ร่วมกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว เกมบันไดงูเกมฝึกให้เด็กต้องรอให้ถึงตาของตนเอง

ก่อนจะได้ทอยลูกเต๋า การฝึกรอเป็นการควบคุมตนเองด้วยทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง  อีกทั้งเกมนี้ฝึกฝนสมาธิเด็กใน

ระหว่างที่นับช่องตามจำนวนเลขที่ทอยลูกเต๋าได้ เด็กส่วนมากจะเริ่มชอบเล่นเกมนี้เมื่อมีอายุราวห้าขวบ

          นอกจากการเล่นเกมดังบางตัวอย่างที่กล่าวมา พ่อแม่ผู้ปกครองยังสามารถฝึกฝนเด็กเล็กได้อีกหลายวิธี เช่น

          ฝึกลูกให้คิดก่อนตอบคำถาม ก่อนพูดว่าคำตอบคืออะไรให้นับ 1-10 ก่อน สามารถฝึกให้ลูกนับออกเสียงก่อนแล้วค่อยตอบได้

          ฝึกให้ลูกได้ “หยุดพักสักครู่” เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก อยู่ในอารมณ์ที่ฉุนเฉียวหรือเครียด เช่น เมื่อเด็กต้องทำการบ้านเลขให้เสร็จ แต่เด็กโมโหที่ทำไม่ได้ ให้ลูกพักเบรกสัก 5-10 นาที เพื่อหลุดออกจากสถานการณ์นั้นแล้วกลับมาตั้งต้นทำใหม่ พ่อแม่สามารถแสดงเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นว่า พ่อแม่เองก็ “หยุดพักเพื่อรับมือ” กับสถานการณ์ที่ยากลำบาก หรืออยู่ในอารมณ์โมโห ก่อนกลับมาแก้ปัญหาใหม่อย่างไร

          แสดงตัวอย่างในการยับยั้งไตร่ตรอง ด้วยคำพูดและการกระทำให้เด็กได้เรียนรู้ เช่น พูดว่า “แม่อยากดูทีวีจริงๆ แต่แม่จะทำความสะอาดบ้านให้เรียนร้อยก่อน แล้วแม่ค่อยมานั่งดูทีวี” หรือบอกลูกว่า “เราจะกินข้าวให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วเราค่อยเอาไอศกรีมมากินกัน” เป็นต้น

          เมื่อลูกขึ้นชั้นประถม เริ่มมีการบ้าน ลองทบทวนภาพรวมการบ้านกับลูก พูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูก ให้ลูกได้รู้และฝึกตัดสินใจจัดลำดับก่อนหลังของงานที่จะทำ หากครูมอบหมายใบงาน ฝึกลูกให้อ่านวิธีปฏิบัติตามคำแนะนำและแลกเปลี่ยนกันก่อนทำงาน ว่าจะทำอย่างไรบ้าง ไม่ละเลยปล่อยลูกทำงานไปโดยไม่อ่านคำสั่งจนเข้าใจให้เรียบร้อยก่อน

          ในยามว่างส่งเสริมให้ลูกเล่น ให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้เต็มที่ การวิ่ง หยุด เลี้ยว กระโดด หาจังหวะล้วนทำให้เกิดโอกาสที่สมองจะต้องทำงาน เพื่อสั่งการร่างกาย ทักษะ EF จะถูกปั่นตลอดเวลา นอกจากนี้ ควรสอนลูกเรื่องเทคนิคการหายใจ การเล่นโยคะพื้นฐานง่ายๆ สำหรับเด็ก เพื่อให้มีทักษะในการควบคุม หยุด ยั้งร่างกายและการเคลื่อนไหวของตนเอง

          นอกจากการเล่นเกม การฝึกฝน การเล่นออกกำลังกาย ในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน พ่อแม่ผู้ปกครองและครูสามารถฝึกฝนทักษะการยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) ซึ่งเป็นทักษะ EF พื้นฐานที่สำคัญในสมองส่วนหน้าของเด็กได้ จนกลายเป็นวิถีในการปฏิบัติตัวและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกติกาในห้องเรียน หรือในการพูดคุยกลุ่มใหญ่ว่า ต้องยกมือขึ้นขอพูดก่อนตอบคำถามหรือเสนอข้อคิดเห็น ในการเล่นเกมหรือเครื่องเล่นให้รอจนถึงลำดับที่ตนเองจะได้เล่น เวลาทำการบ้านไม่วอกแวกไปกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากวน ใส่หมวกกันน็อคก่อนขี่จักรยาน คาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อนั่งรถ อ่านคำสั่งและโจทย์ให้เข้าใจก่อนลงมือทำการบ้าน อดทนกับน้อง ไม่ตีหรือแกล้งน้อง รอคิวเข้าแถวทุกครั้งที่โรงเรียน หรือซื้อของในร้านค้า เวลาอารมณ์เสียไม่พูดจาไม่ดีหรือระเบิดอารมณ์กับคนในบ้าน ยอมรับสถานการณ์ที่ไม่เป็นดั่งใจ เช่น ไม่มีอาหารหรือขนมแบบที่ต้องการ

          ทักษะสมองส่วนหน้าหรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า EF เป็นกระบวนการทำงานระดับสูงของสมองส่วนหน้าในการกำกับอารมณ์ ความคิดและการกระทำเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เด็กที่ได้รับการฝึกฝนทักษะสมองส่วนหน้า จะเติบโตเป็นคนที่วางแผนและทำตามแผนที่วางไว้ได้เป็นอย่างดี แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีนิสัยอีกทั้งพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อคนรอบข้างสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นทักษะความสามารถที่จำเป็นของประชากรโลกในศตวรรษที่ 21 ในการก้าวไปสู่ความสำเร็จของชีวิตที่มุ่งหวัง ด้วยความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงสามารถอยู่ร่วมกับผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย คนที่มีความคิดเห็นตรงข้ามในสังคมเดียวกันได้ ไปจนถึงสามารถแก้ปัญหายากๆที่ตนเองและสังคมเผชิญ เพื่อร่วมมือพากันไปสู่ชีวิตและสังคมที่ดีกว่าได้


อ้างอิง
• Improve Response Inhibition, https://southcountychildandfamily.com/resources/executive-functions/response-inhibition/, สืบค้น 22 มีค. 2565