การจะทำให้เด็กเปิดใจเปิดประตูสู่การเรียนรู้อย่างแท้จริงได้นั้น อันดับแรกครูต้องตระหนักว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

เด็กแต่ละคน มีความสามารถในการมีสมาธิ (Attention Span) ไม่เท่ากัน
ความสามารถที่จะจดจ่อกับเรื่องใดๆ นั้น เป็นพัฒนาการของสมอง หมายความว่า ผู้ใหญ่ไม่สามารถคาดหวังให้เด็กเล็กๆ นั่งลงแล้วเรียนเพราะสมองยังไม่พัฒนา และขณะเดียวกัน เด็กถึงแม้จะมีอายุเท่ากัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมี attention span เท่ากัน พันธุกรรมเกี่ยวกับสมองส่วนหน้าของเด็กแต่ละคนทำให้การพัฒนาของสมองไม่เท่ากัน เด็กบางคนสามารถจดจ่อได้นาน บางคนวอกแวกง่าย ซึ่งถือว่าปกติ เพราะเด็กมีความแตกต่างกัน (แต่ถ้าวอกแวกเกินค่าปกติจะเป็นโรคสมาธิสั้น พบว่าเด็กสมาธิสั้นแม้จะติดเกมง่าย แต่ก็ยังจดจ่อ มีความสนใจสิ่งต่างๆ ได้) attention ของเด็กจะยาวหรือสั้น จึงไม่ใช่เป็นความผิดของเด็ก เด็กไม่ได้ตั้งใจที่จะไม่จดจ่อ แต่เป็นเพราะสมอง สิ่งที่ครูจะทำได้คือสร้างรูปแบบการสอนที่น่าสนใจ ที่มีความหมาย จึงจะสามารถดึงเด็กให้มี attention ได้นานขึ้น relationship หรือสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเด็กกับครูก็ส่งผลต่อการดึงให้เด็กจดจ่ออยู่กับการเรียนรู้ได้นานขึ้นด้วยเช่นกัน


เด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้(Learning Style)ที่แตกต่างกัน
เด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่ต่างกัน บางคนถนัดเรียนรู้จากการฟัง บางคนถนัดเรียนรู้จากการดูแล้วเลียนแบบ บางคนจากการต้องเคลื่อนไหว ลงมือทำ เช่นเด็กสมาธิสั้นหรือเด็กที่วอกแวกง่าย ดังนั้น ครูจึงต้องดูเด็กให้ออกว่าคนใดมีสไตล์การเรียนรู้แบบใด แล้วจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อ ตอบสนองเด็กอย่างหลากหลายเพื่อดึงความสนใจของเด็ก ไม่ใช่ออกแบบประสบการณ์แบบพูดให้เด็กฟังอย่างเดียว ซึ่งแน่นอนว่าเด็กกลุ่มที่ไม่ชอบฟังอย่างเดียวจะตามไม่ทัน เพราะไม่ใช่สไตล์การเรียนรู้ที่ตัวเองถนัด

เข้าถึงเด็กด้วย Reflection
เมื่อเข้าใจรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กแล้ว ครูจะเข้าถึงความรู้สึกนึกคิด ตัวตนของเด็กได้มากขึ้นหากใช้วิธีการ Reflection หรือการสะท้อนคิด เมื่อจบกิจกรรมหรือในระหว่างทำกิจกรรม เพื่อให้เด็กได้แสดงความรู้สึก ความคิดเห็น และสิ่งที่ได้เรียนรู้ออกมา ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก เพราะทำให้เด็กได้อยู่กับข้างในของตัวเอง เรียนรู้เข้าใจตัวเอง รู้จักตัวเองก่อนว่ารู้สึกอย่างไร เมื่อเข้าใจตัวเองจึงจะเข้าใจผู้อื่น สำหรับมนุษย์แล้ว การรู้จักตัวเองและรู้จักอยู่กับคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด มันจะนำเราออกไปรู้จักโลกภายนอกเพื่อนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาทำให้เราดำเนินชีวิตได้ดี แต่การรู้จักตัวเอง รู้จักการอยู่กับคนอื่นนี้ ไม่ควรมีเป้าหมายเพียงเพื่อการเติบโตไปเป็นคนที่นิสัยดี มีความสุขเท่านั้น เป้าหมายที่ใหญ่กว่า คือจะทำให้เราจัดการกับโลกได้ ซึ่งการจะอยู่ในโลกได้ดีแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าเรามีมุมมองต่อคนอื่นอย่างไร การสะท้อนคิดนี้ แม้แต่เด็กปฐมวัยก็สามารถสะท้อนได้ โดยครูอาจช่วยตั้งคำถาม หรือถามนำในระยะแรกๆ ความเข้าใจเข้าถึงเด็กนี้จะเป็นกุญแจที่ครูใช้เปิดประตูสู่โลกการเรียนรู้ให้เด็ก เมื่อครูสามารถทำให้เด็กสนใจได้แล้ว เด็กก็จะเรียนรู้อย่างมีความสุขและอย่างมีความหมายต่อตนเองดังที่ครูปรารถนา