พลังความอยากกับการยับยั้งชั่งใจมันคู่กัน ถ้าเด็กมีพลังอยากมากแล้วเราไปหยุดเขาเสียหมด บางทีอีกมุมหนึ่งอาจไปทำลายความอยากของเด็ก โอกาสที่เด็กจะ explore ทำสิ่งที่หลากหลายอย่างอิสระเป็นสิ่งจำเป็น ในขณะที่ขอบเขตก็จำเป็น
ครูก้าหรือคุณครูกรองทอง บุญประคอง แห่งโรงเรียนจิตตเมตต์ปฐมวัย ได้กล่าวว่า “ก่อนจะฝึกเด็กวัยอนุบาลให้รู้จักมีความยับยั้งชั่งใจ เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กวัยนี้เสียก่อน…”
“ก่อนที่เราจะใช้สถานการณ์หรือโอกาสฝึกฝนเด็กจนกระทั่งเด็กคุ้นเคยกับการยับยั้งชั่งใจ เข้าไปอยู่ในเนื้อตัวเขาโดยไม่ต้องคอยกำกับภายหลัง เราต้องเริ่มจากรู้จักธรรมชาติของเด็กเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่นเด็กเล็กๆ ชอบการเคลื่อนไหว ชอบเสียงเพลง เพราะฉะนั้นเราก็ใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวกับเสียงเพลง ทำได้ตั้งแต่เด็กเล็กๆ เลย”
“ที่โรงเรียนจิตตเมตต์ใช้กิจกรรมประเภทนี้ตั้งแต่ชั้นเนิร์สเซอรี่ พอเด็กได้ยินเสียงเพลงเราก็ชวนเขาเล่น เคลื่อนไหว พอเสียงเพลงหยุดปั๊บ เราก็หยุด การวิ่งการเดินเป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กถึงแม้จะยังอยู่ในวัยเตาะแตะ เด็กก็มีความอยากที่จะเคลื่อนไหว แต่การหยุดยากกว่า เพราะฉะนั้นเมื่อเสียงเพลงหยุด เด็กต้องหยุดต้องนิ่งแข็ง นี่คือการยับยั้งชั่งใจ “
“สำหรับเด็กที่โตขึ้นหน่อย เขารู้จักการเคลื่อนไหวเข้าจังหวะ เริ่มมีสมาธิและการควบคุมตัวเองให้การเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับเสียงเพลงและจังหวะของเพลง เขาเริ่มรู้จักคอนโทรลตัวเองในการเคลื่อนไหวและคอนโทรลตัวเองในการหยุดดีขึ้น “
“ที่โรงเรียนเราเล่นเงื่อนไขนี้กับเด็กตั้งแต่ชั้นเนิร์สเซอรี่จนกระทั่งอนุบาล 3 แต่มีความซับซ้อนยากต่างกันไป เราจะเห็นว่าเด็กมีความสามารถในการควบคุมตัวเองดีมากขึ้นเรื่อยๆ “
“แต่ก็มีข้อควรระวัง เพราะการฝึกเช่นนี้เท่ากับเรากำลังเล่นกับพลังความอยากของเด็ก พลังความอยากกับการยับยั้งชั่งใจมันคู่กัน ถ้าเด็กมีพลังอยากมากแล้วเราไปหยุดเขาเสียหมด บางทีอีกมุมหนึ่งอาจไปทำลายความอยากของเด็ก โอกาสที่เด็กจะ explore ทำสิ่งที่หลากหลายอย่างอิสระเป็นสิ่งจำเป็น ในขณะที่ขอบเขตก็จำเป็น กรณีนี้คล้ายคนที่หิว ต้องให้เขาได้สิ่งที่ต้องการบ้าง ไม่ใช่ทำให้ทุกสิ่งยากเกินไปที่จะยับยั้งชั่งใจเขาจะอยากสำรวจ อยากชิมบ้างก็ให้โอกาสเขาบ้าง เราจะเห็นเด็กที่โตขึ้นไปขโมยของ เพราะเขาขาดและถูกบังคับ กดดัน จนในที่สุดต้องหาทางออก แก้ไขความอยากอย่างผิดวิธี”
“ความเข้าใจธรรมชาติของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ ต้องเอาความเข้าใจนั้นมาจัดระบบการเรียนรู้ของเด็ก”
เชื่อว่าข้อแนะนำของครูก้าจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคุณครูที่จะนำไปปรับใช้กับเด็กๆ ในชั้นเรียนของคุณครูนะคะ
“พลังความอยากกับการยับยั้งชั่งใจมันคู่กัน ถ้าเด็กมีพลังอยากมากแล้วเราไปหยุดเขาเสียหมด บางทีอีกมุมหนึ่งอาจไปทำลายความอยากของเด็ก”