โรงเรียนบ้านกลางนาเดื่อเป็นโรงเรียนในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ผอ.กษมน ได้รับการแนะนำให้รู้จักเรื่องEF จากอาจารย์วิเชียร ไชยบัง โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา แล้วศึกษาเพิ่มเติมทางอินเทอร์เน็ตและเข้าอบรมกับสถาบันRLG เมื่อเดือนเมษายน 2564 โดยให้ครูปฐมวัยในโรงเรียนเข้ารับการอบรมด้วย ซึ่งเป็นครูที่จบเอกปฐมวัยมาโดยตรง และมีความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้สู่การปฏิบัติในชั้นเรียน เมื่อตระหนักถึงความสำคัญของ EF ตรงกัน ผอ.กษมนจึงให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ ให้ครูปฐมวัยได้จัดการเรียนการสอนส่งเสริม EF โดยไม่ได้รอความเห็นชอบจากศน.เขตพื้นที่ฯ เพราะเห็นว่า EF เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับหลักการศึกษาปฐมวัยอยู่แล้ว สามารถบูรณาการไปกับการส่งเสริมพัฒนาการ 4 ด้านได้ อีกทั้งสอดคล้องกับแนวทางจิตศึกษาซึ่งโรงเรียนร่วมเป็นเครือข่าย ผอ.กษมนวางแผนจะพัฒนา EF ระดับอนุบาลให้เข้มแข็งและขยายต่อเนื่องไปยังชั้นประถมรวมทั้งจะร่วมกับศน.ขับเคลื่อนความรู้ EF ในเขตพื้นที่การศึกษาและเสนอให้มีการขับเคลื่อนในภาพรวมของจังหวัดด้วย

การขับเคลื่อน EF ที่เป็นรูปธรรม

  • นำกระบวนการพัฒนาทักษะสมอง EF สู่ห้องเรียน ให้ความรู้พื้นฐานแก่ครูปฐมวัยแนะนำเรื่องการจัดประสบการณ์สาหรับเด็กปฐมวัยที่เหมาะสมและส่งเสริมทักษะ EF ทั้ง 9 ด้าน
  • ให้ครูนำเรื่องการพัฒนาEFให้เด็กนักเรียนกำหนดเป็นประเด็นท้าทาย ระบุไว้ในข้อตกลงการพัฒนางาน (PA – Performance Agreement การประเมินผลการปฏิบัติงาน)เพื่อเลื่อนวิทยฐานะ
  • นำเสนอเรื่องEF ในกระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัยแก่เขตพื้นที่การศึกษาสกลนครเขต 1 และเสนอให้มีการขับเคลื่อนในภาพรวมของจังหวัด นำเสนอการปรับแผนการจัดประสบการณ์ในเชิงนโยบายแก่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดสกลนคร
  • ปรับปรุงสนามเด็กเล่น เพื่อส่งเสริม EF ให้เด็กนักเรียน

การสร้าง/ประสานเครือข่าย

  • ขับเคลื่อนเรื่องEF ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอำเภอโพนนาแก้ว ร่วมกับโรงพยาบาลโพนนาแก้ว ทั้งในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยแบบองค์รวม
  • ประสานกับเครือข่ายจิตศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการเรียนการสอนที่ส่งเสริม EFทำPLC ร่วมกัน

การต่อยอด/นวัตกรรม/ วิจัย

  • จะร่วมกับศน.ขับเคลื่อนความรู้ EF ในเขตพื้นที่การศึกษาและร่วมขับเคลื่อนในภาพรวมของจังหวัด
  • จะพัฒนา EF ในระดับชั้นอนุบาลให้ชัดเจนและมีความต่อเนื่องกับประถม กำลังขยายความรู้ EF สู่ครูชั้นเรียนอื่นๆ ใช้กระบวนการเรียนการสอนจิตศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนา EF

การแก้ปัญหา

ปัญหาสถานการณ์โควิด ให้ครูใช้กิจกรรมงานบ้าน งานครัว งานสวน พัฒนา EF เด็ก เป็นกิจกรรมที่เด็กทำร่วมกับผู้ปกครองที่บ้าน โดยครูกำกับติดตาม พบว่าช่วยแก้ปัญหาเรื่องเด็กติดโทรศัพท์

ผลสัมฤทธิ์ / การเปลี่ยนแปลง

  • ตนเองได้เห็นความสำคัญของทักษะสมอง EF อย่างมาก เรียนรู้เข้าใจเรื่องพัฒนาการสมองทำให้เปิดโอกาสแก่ผู้อื่น เปิดโอกาสแก่เด็ก รับฟังผู้อื่นมากขึ้น
  • ครูเข้าใจเรื่องEF และสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริม EF ในชั้นเรียนได้
  • เด็กสมาธิสั้นสามารถนิ่งขึ้น ทำกิจกรรมได้นานขึ้น ส่วนเด็กปกติก็มีสมาธิที่ยาวนานขึ้น มีทักษะในการคิดการแก้ปัญหา