ผลจากการไม่ลงตัวกับการเรียนในระบบโรงเรียนที่พบเห็นกันได้ทั่วไปในปัจจุบัน นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ สิ่งที่ชอบกลับไม่ได้เรียน ก็อาจจะส่งผลต่อเด็กต่อเนื่องไปหลายอย่าง บางคนถึงขั้นรู้สึกเสียตัวตน ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง เชื่อว่าตัวเองไม่เอาไหน เรียนไม่ได้ เด็กหลายคนเป็นโรคซึมเศร้าเพราะรู้สึกตลอดเวลาว่าตนไม่สามารถไล่ตามความคาดหวังของโรงเรียน ของผู้ปกครองและกระแสสังคมได้ แย่ไปกว่านั้น นักเรียนที่มีฐานะเศรษฐกิจไม่ดี หรือกลุ่มที่ด้อยโอกาสจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่ประสบความสำเร็จในระบบการศึกษาอยู่แล้ว ก็จะยิ่งถูกซ้ำเติมหนักขึ้นไปอีก จนส่งผลต่อไปในอนาคต เช่น บางคนอาจจะไม่มีงานทำ บางคนอาจจะจนตรอก ตีตัวออกห่างจากสังคม จนไปกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำผิดกฎหมาย ติดคุก เป็นต้น
สถานการณ์เช่นว่านี้ เป็นกันทั่วไปในประเทศที่การศึกษายังเป็นแบบตอบสนองอุตสาหกรรม
ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาแล้ว ใช่หรือไม่ ?
มันเป็นการง่ายมากที่จะสร้างระบบการศึกษาให้เหมือนกับระบบโรงงาน เพราะทุกอย่างเป็นไปตามระบบ มาตรฐาน ทุกอย่างถูกคำนวณมาแม่นยำ ไม่ให้ผิดเพี้ยน ดังนั้น หากมีสิ่งใด ส่วนใน นักเรียนคนใดไม่ตรงตามข้อกำหนดก็คัดทิ้งออกไปจากสายพาน ทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องกับคำว่า”ผลผลิต” ตราบใดที่โรงงานสามารถสร้างผลผลิตออกมาได้มากตามจำนวนและคุณภาพที่กำหนดไว้ ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจว่า โรงงานจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือไม่ เพียงใด
แต่มนุษย์ต้องการเป็น “ผลผลิต” ของสายพานการผลิตเท่านั้นจริงหรือ มนุษย์นั้นมีความหลากหลาย มีชีวิตจิตใจ มีความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้น การจัดการศึกษาแบบเดียวที่ Fit For All ย่อมไม่ตอบโจทย์การพัฒนาคนอย่างแน่นอน ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ยุคใหม่ ที่เป็นยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ต้องการมนุษย์ที่มีความหลากหลาย ที่จะตอบสนองต่อการสร้างสรรค์งานที่ตอบโจทย์ความสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ก็คงถึงเวลาแล้วที่โรงเรียนจะต้องเปลี่ยนแปลง
เราได้เห็นแล้วว่าระบบนี้ล้มเหลว แต่มีระบบที่ดีกว่านี้หรือไม่?
นักการศึกษาที่มีชื่อเสียงในด้านความคิดสร้างสรรค์ เซอร์เคน โรบินสัน ให้แง่คิดมุมมองที่น่าสนใจว่า บางทีเราอาจลองคิดถึงแรงบันดาลใจจากการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนหลักการ 4 ข้อ ได้แก่ สุขภาพ นิเวศวิทยา ความเป็นธรรม และระบบการดูแล ซึ่งแสดงถึงระบบออกแบบมาโดยยึดหลักการใส่ใจสุขภาพ นิเวศวิทยา ความเป็นธรรม และระบบการดูแล เพื่อปรับปรุงชีวิตของทุกคนทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึง หมู คนงาน และผู้บริโภค โดยทุกอย่างยังคำนึงถึงระบบนิเวศ และการทำงานเชื่อมโยงระหว่างกัน และเนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์ตั้งอยู่บนความเป็นธรรม และการดูแลเอาใจใส่ จึงใส่ใจถึงผลระยะยาว เกี่ยวกับการจัดหาสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งให้กับคนรุ่นปัจจุบัน และคนรุ่นอนาคตด้วยเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องของการศึกษา เซอร์เคน โรบินสันเห็นว่า หลักการเหล่านี้ก็มีความใกล้เคียงกัน เพราะว่าในขณะที่โรงเรียนทั่วไปมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จ เป็นเลิศ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการหรือการกีฬา แต่โรงเรียนแบบเกษตรอินทรีย์ให้ความสำคัญ กับการพัฒนานักเรียนทุกคนให้เป็นคนที่มีสุขภาพร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญาที่ดี ไม่เพียงเท่านี้ หาหกแต่การศึกษาแบบเกษตรอินทรีย์ ยังใส่ใจระบบนิเวศของชุมชน โรงเรียน พร้อมไปกับการส่งเสริมความสามารถของนักเรียนทุกคนด้วย
ตัวอย่างของ โรงเรียนประถมศึกษา Grange ในเมืองน็อตติงแฮม ประเทศอังกฤษ ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ชัดเจนว่า ต้องการให้เด็กๆ มี Living, Learning และ Laughing โดยอธิบาย คำว่า LIVING ว่ามนุษย์ทุกคนต้องมีการเดินทางชีวิตที่ยาวนานเพื่อค้นหาประสบการณ์และโอกาสต่าง ดังนั้น จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและดูแลพัฒนา ทั้งครูและนักเรียนควรจะเห็นคุณค่าในตนเองและของคนอื่นไม่ว่า คนอื่นนั้นจะมีความแตกต่างในภูมิหลัง รูปลักษณ์หรือความบกพร่องใดๆ โรงเรียนจะชื่นชมทั้งอดีต อยู่กับปัจจุบันและมองไปข้างหน้าสู่อนาคต โรงเรียนจะทำหน้าที่นำพาเด็กๆไปตามเส้นทางนี้และเตรียมตัวเด็กๆไปสู่การพัฒนาขั้นต่อไป ไปเผชิญความท้าทายใหม่ๆ และเก็บรับความทรงจำใหม่ๆ ต่อไป
ในส่วนของคำว่า LEARNING โรงเรียนประถมศึกษา Grange เน้นให้เด็กๆมีความเชื่อมั่นในตนเอง โดยโรงเรียนถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะสนับสนุนให้เด็กทุกคนชื่อว่าตนเองมีความสามารถที่จะเรียนรู้ แก้ปัญหาและเอาชนะความยากลำบากใดๆได้ โรงเรียนจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กพัฒนาความปรารถนาที่จะเรียนรู้ ได้สัมผัสกับอัศจรรย์แห่งการค้นพบ และการเรียนรู้ที่โรงเรียนจะนำพานั้นต้องสอดคล้องกับชีวิต เพื่อเด็กๆจะได้เห็นเหตุผลว่าทำไมต้องหาความรู้และเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ เด็กควรได้มีความรู้สึกแห่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จที่ได้จากการเปิดประตูเรียนรู้บานใหม่ๆ และมีโอกาสภูมิใจเมื่อพวกเขาทำงานสำเร็จ
คีย์เวิร์ดคำสุดท้ายคือ LAUGHING ซึ่งอาจเป็นความแปลกในสายตาของนักการศึกษา หรือผู้คร่ำหวอดในโรงเรียนทั้งหลายว่า ชาวโรงเรียน Grange คิดอย่างไรจึงเอาคำนี้มาเป็นวิสัยทัศน์ของโรงเรียน
โรงเรียนชี้ว่า การมาเรียนต้องมีความสุข สนุก น่าตื่นเต้น โรงเรียนจะต้องส่งเสริมบรรยากาศของการเคารพกันและกัน และต้องมีอารมณ์ขัน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีสภาพแวดล้อมที่กระตุ้น สร้างความตื่นเต้น ทำให้มีรอยยิ้มเพื่อเผชิญความท้าทาย ตอบรับความผิดพลาดด้วยทัศนคติเชิงบวก โรงเรียนต้องมีความมั่นใจว่าทุกคนจะได้หัวเราะด้วยกัน
โรงเรียนจึงจัดให้มีนักเรียนเป็นผู้ร่วมกำหนดนโยบายและบริหารโรงเรียน มี School Mayor ซึ่งเป็นนักเรียนเกรด 6 โดยใช้รูปแบบการบริหารเมือง มีสภาโรงเรียน หนังสือพิมพ์ และแม้แต่ตลาดอาหาร ขณะที่นักเรียนทำงานที่โรงเรียน และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน พวกเขาได้เรียนรู้ความสามารถที่หลากหลาย ตั้งแต่ทักษะทางสังคมไปจนถึงเลขคณิต
แนวปฏิบัติของโรงเรียนประถมGrange ได้สะท้อนวิสัยทัศน์ของการส่งเสริมการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการมีความสุขอย่างชัดเจน
นอกจากตัวอย่างของโรงเรียนประถม Grange เซอร์เคน โรบินสัน ยังเห็นว่า การศึกษาแบบเกษตรอินทรีย์นั้นมีความยุติธรรม เพราะเป็นการยกย่องนักเรียนทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้ที่มีพรสวรรค์ด้านวิชาการเท่านั้น และสุดท้าย ครู และพี่เลี้ยงก็ปฏิบัติต่อนักเรียนอย่างเข้าใจ เพื่อจัดเตรียมเงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาพวกเขา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือพวกเขาปฏิบัติต่อพวกเด็กๆ ด้วยความระมัดระวังใส่ใจแท้จริง
แต่ถ้าคุณเป็นครูในโรงเรียนที่ยังไม่เป็นโรงเรียนที่สร้างสรรค์? คุณครูทุกคนจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนจะได้เรียนรู้
หากคุณเดินเข้าไปในห้องเรียนทั่วๆไป คุณจะเห็นนักเรียนที่(แอบ)เบื่อหน่ายกับทุกสิ่ง ที่พยายามป้อนให้พวกเขา แม้ว่าภาพนี้อาจดูเหมือนปกติทั่วไป แต่เราก็ไม่ควรปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว เด็กๆ ต้องเป็นผู้เรียนโดยธรรมชาติ
ทารกน้อยกระตือรือร้นที่จะสำรวจโลกมาก จนพวกเขาสามารถคว้าสิ่งใหม่ๆ ที่พวกเขาสามารถคว้าได้ พวกเขายังซึมซับภาษา และมักจะทำทุกอย่างได้คล่องแคล่วเมื่ออายุสองหรือสามขวบ
เรื่องราวของทารกน้อยที่กระหายใคร่รู้ และความใฝ่รู้นี้เองที่ขับเคลื่อนชีวิตและการเติบโตแก่พวกเขา ช่วยให้เราตระหนักถึงความใฝ่รู้ที่มีในตัวของเราทุกคน พูดได้ว่า ความหิวโหยในการเรียนรู้ของมนุษย์ทุกคนล้วนมีมากในวัยเด็ก ในการทดลองโดย Sugata Mitra ศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยีการศึกษาที่มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ในปี 2542 พวกเขาติดตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ที่ผนังในสลัม ในประเทศอินเดีย และคอยสังเกตปฏิกิริยาของเด็กๆ ที่มีต่อคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ซึ่งหน้าจออินเทอร์เฟซแสดงเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ซึ่งในกลุ่มเด็กๆ ไม่มีใครรู้ภาษาอังกฤษ แต่ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เด็ก ๆ ก็สามารถค้นพบวิธีใช้คอนโซลเพื่อเล่นเกมและบันทึกเพลงเองได้ งานวิจัยนี้สะท้อนว่า เด็กตัวน้อยทุกคนมีความกระหายใคร่รู้อยู่ในตัว และมีศักยภาพที่จะนำมันออกมาใช้หาความรู้ หรือสร้างการเรียนรู้ที่พวกเขาสนใจได้
ดังนั้น ความจริงแล้วเด็กๆ มีความอยากรู้อยากเห็น ก็ขึ้นอยู่กับครูว่า จะส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นนี้หรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่ทำลายมันทิ้ง หากคิดว่าครูเป็นคนทำสวนแบบเกษตรอินทรีย์ที่ว่านั้น เขาจะไม่บังคับเด็กให้พัฒนาได้ แต่เขาสามารถหล่อเลี้ยงความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติของเด็กๆไปสู่การเติบโตได้
เราจึงพูดได้ว่า เด็กเป็นผู้เรียน และบทบาทของครูคือประคับประคองความอยากรู้อยากเห็นและส่องแสงสว่างนำทางการเรียนรู้ ให้พวกเขาได้เดินไปด้วยตัวของเขาเอง
อ้างอิง
- IR KEN ROBINSON AND LOU ARONICA, CREATIVE SCHOOLS: THE GRASSROOTS REVOLUTION THAT’S TRANSFORMING EDUCATION, 2016