2 ทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้านสมองต่างยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า “การเสพติดเป็นโรคของสมอง” ที่นำไปสู่แนวทางใหม่ในการป้องกัน การบำบัด และการวางนโยบายสุขภาพด้านยาเสพติดของสังคม แต่ก็ยังมีหลายคำถามค้างคาใจกันอยู่ อาจด้วยพฤติกรรมหรือลักษณะการแสดงออกของผู้เสพติดยังไม่ได้รับการอธิบายในทางประสาทวิทยาอย่างชัดแจ้ง

บทความชื่อ Neurobiologic Advances from the Brain Disease Model of Addiction  เขียนโดยแพทย์หญิง Nora D. Volkow, ดร. George F. Koob, และ ดร.Thomas McLellan  ตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine ที่มีชื่อเสียง ในเดือนมกราคม 2016 ได้รายงานถึง ข้อค้นพบเรื่อง  “ความชินชาของวงจรให้รางวัล (Desensitization of reward circuit)” ซึ่งส่งผลหลายอย่าง ได้แก่ ส่งผลต่อแรงจูงใจที่จะดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน, ต่อความสามารถในการรู้สึกเพลิดเพลิน ต่อปฏิกิริยาความเครียด และต่อการตอบสนองอย่างมีเงื่อนไขที่แรงขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความอยากเสพแอลกอฮอล์และยาเสพติดต่างๆมากขึ้น  รวมถึงข้อค้นพบที่ว่า เมื่อความอยากในยาเสพติดนี้ไม่ได้รับการตอบสนองก็จะเกิดความรู้สึกทางลบ กระทบต่อการทำงานในบริเวณสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวกับทักษะ executive Functions (EF) เช่น การตัดสินใจ การยับยั้งชั่งใจ และการกำกับควบคุมตนเอง ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่อาการอยากเสพที่กำเริบซ้ำๆ ขึ้นอีก

คณะผู้เขียนได้ร่วมกันทบทวนศึกษาถึงสภาพแวดล้อมทางสังคม ขั้นพัฒนาการของบุคคลและกรรมพันธุ์ที่เชื่อมโยงกัน และส่งผลต่อความเสี่ยงหรือการฟื้นตัวจากการเสพติด ทั้งนี้ นักวิจัยทั้งสามท่านสรุปว่า งานวิจัยในสาขาประสาทวิทยาศาสตร์ยังคงสนับสนุนหลักคิดเรื่อง “การเสพติดเป็นโรคของสมอง” เพราะไม่เพียงแต่ความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ในสาขายาเสพติดนี้จะได้เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่การป้องกัน และบำบัดการติดสารเสพติด หรือแม้แต่ช่วยในการเข้าใจและป้องกันพฤติกรรมการติดในเรื่องอื่นๆ เช่น ติดเกม ติดอาหาร ติดเซ็กส์ หรือการพนัน แต่ความรู้นี้ ยังพัฒนาความเข้าใจของเราเกี่ยวกับกระบวนการทางชีววิทยาขั้นพื้นฐาน ที่เกี่ยวข้องกับการสมัครใจของคนที่ติดยาที่ต้องการจะกับมาควบคุมพฤติกรรมของตนด้วย

ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม

ปรารถนา หาญเมธี
เอกสารแปลและเรียบเรียง