การเสพติดเป็นผลของสมอง คนที่สมองส่วนหน้าไม่ดี จะมีปัญหามากเลยในการที่จะยับยั้งให้ตัวเองไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ดี
สมองส่วนหน้าหรือ Pre frontal cortex เป็นสมองส่วนที่สำคัญมาก คือเป็นตัวหลักในการควบคุมการทำงานของสมองส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะหน้าที่การบริหารจัดการที่เราเรียกว่า Executive Functions ตัวมันเองจะมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องของการวางแผน การคิดวิเคราะห์ และที่สำคัญคือการยับยั้งชั่งใจ ในการควบคุมว่า “อย่าทำนะ อันนี้ไม่ดี” ถ้ากระบวนการยั้บยั้งเกิดขึ้นได้ไม่ดี เขาจะมีความเสี่ยงมากในการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือถูกดึง ถูกล่อลวงไปได้ง่าย
เราจะเห็นตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดคือ บริษัทยาเสพติดทั้งหลาย อย่างเช่น บุหรี่ เหล้า จะเน้นที่วัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่สมองส่วนหน้ายังอยู่ในระหว่างการพัฒนา กลุ่มนี้ถามว่ารู้ไหมว่ามันไม่ดี ในแง่ของความเข้าใจเขารู้ แต่การยับยั้งเมื่ออยู่ในสถานการณ์มีปัญหา เมื่อเพื่อนชวนก็จะมีโอกาสถูกดึงไปได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ที่มีการทำงานของสมองส่วนหน้าพัฒนาเต็มที่แล้ว ฉะนั้นเราจะพบว่าคนที่มีสมองส่วนหน้าไม่ดี เขาจะมีปัญหามากในการที่จะยับยั้งตัวเองไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ดี

การเสพติดเป็นผล(ภัย)ของสมอง
เมื่อใช้ยาเสพติดไปสักพัก จะส่งผลให้เกิดการทำลายและการอักเสบของเซลล์สมอง ทำให้เรื่องของ EF แย่ลง เมื่อ EF แย่ลงก็มีโอกาสที่จะเข้าสู่วงจรยาเสพติดได้ง่ายขึ้น เพราะการยับยั้งชั่งใจก็จะเสีย ความยืดหยุ่นที่จะรู้จักปฏิเสธก็จะลดลง เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสมองทั้งหมด

ทำอย่างไรให้สมองดี
เวลาเราพูดถึงการฝึกสมอง เราจะต้องคิดถึงการเข้าคอร์ส เข้าโปรแกรมเรียนอะไรสักอย่าง จริงๆ แล้วผมมองว่าเรื่อง EF ที่เราพยายามทำกันอยู่ควรเป็นเรื่องที่ง่ายๆ ควรเป็นเรื่องที่ปนกับชีวิตประจำวัน ยิ่งพ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก “สอนผ่านการเล่น” เริ่มจากการสอนให้เด็กรู้จักการรอคอย ทุกอย่างจะไม่ได้มาทันที เด็ก 2-3 ขวบ เวลาเขาร้องหา ชวนแม่ให้มาเล่น บางทีถ้าแม่มาไม่ได้ ก็ต้องบอกเขาว่าแม่มาไม่ได้ มีการกำหนดเวลาให้เขารอ เมื่อเขาอายุประมาณสัก 3-4 ขวบ เด็กจะเรียนรู้ถึงการเล่นร่วมกับคนอื่น เราต้องสอนให้เขารู้จักกติกา หมายความว่าเวลาเล่นกับเด็ก ยอมได้ไหม ยอมได้บ้าง แต่ต้องสอนให้เขารู้จักกติกา เด็กหลายๆ คนพ่อแม่ยอมตลอด ตัวเองชนะมาตลอดเลย เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้เองก็จะไม่ได้ถูกฝึกในเรื่องของตรงนี้ด้วย ไม่ว่าจะเล่นกับเพื่อนหรือเล่นกับพ่อแม่ก็ตาม สอนในเรื่องของ กติกา รู้จักการรอคิว รู้จักการแพ้ เป็นสิ่งสำคัญ เป็นกระบวนการที่ช่วยให้เด็กเหล่านี้มีการพัฒนาสมองส่วนหน้าดีขึ้น หยุดเป็น รู้จักปฏิเสธเป็น และที่สำคัญคือต้องมีความเชื่อในตัวเอง ผมมองว่าสายสัมพันธ์ของพ่อแม่ที่ดี จะช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างได้

สร้างสายสัมพันธ์
“กอด สัมผัสด้วยรัก สร้าง EF ในสมองลูก”
ในช่วงเด็กๆ สิ่งสำคัญในการสร้างความผูกพันไม่ได้บอกว่า แม่รักลูก เพียงอย่างเดียว แต่การแสดงให้เห็นด้วยการกอด ด้วยสีหน้า ด้วยการสัมผัสกัน อันนี้จำเป็นมากๆ หลายคนบอกว่าการกอดเกี่ยวอะไรกับ EF จริงๆ แล้วการกอดเป็นการมีปฏิสัมพันธ์ทางกายระหว่างคนสองคน แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมอง ถ้าเด็กมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแม่ในช่วงวัยเด็ก ในช่วงของวัยรุ่น เด็กก็ยังคงมีความสัมพันธ์ คือเขาอาจจะไปหาเพื่อนบ้าง แต่เขาก็ยังวิ่งกลับมาหาคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งตรงนั้นแหละครับคือจุดที่เป็นนาทีทองในการค่อยๆ ถามเขา ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเขาบ้าง การที่เด็กมาเล่าให้พ่อแม่ฟังเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว อย่าทำลายโอกาสตรงนั้น บางทีคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องตั้งนะโมไว้ หรือต้องมีการยับยั้งชั่งใจว่าอย่างเพิ่งด่า ฟังให้จบก่อน แล้วหาทางแก้ไขด้วยกัน เพราะถ้าพ่อแม่รีบตำหนิ ข้อมูลจะไม่มาเลย มันจะหยุดแล้วไปหาเพื่อนแทน เพราะฉะนั้นความเชื่อมั่นระหว่างพ่อแม่กับลูกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างน้อยแก้ปัญหาด้วยกัน ก็จะดีกว่าแก้ปัญหาคนเดียว คุณพ่อคุณแม่ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยฝึกเรื่องของ EF กับเด็กในเรื่องของการยับยั้งชั่งใจ
เมื่อพัฒนา EF ได้ เราก็คาดหวังว่าเด็กในกลุ่มนี้ น่าจะมีภูมิต้านทาน ในการที่จะไม่เข้าหาสิ่งเสพติดเมื่อเขาเติบโตขึ้น

ป้องกันลูกติดยาตั้งแต่ปฐมวัย

ฝึกยับยั้งชั่งใจในชีวิตประจำวัน

ป้องกันลูกจากยาเสพติด… ด้วยทักษะสมอง EF